ในเรื่องของการรักษาสุขภาพนั้น โรคอ้วนและความเกี่ยวโยงของโรคนี้กับโรคอื่นๆ หลายโรครวมทั้ง เบาหวาน และโรคหัวใจ กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก
แต่นักวิจัยบางคนกำลังมีคำถามเกี่ยวกับวิธีที่ดีที่สุด ในการตรวจวัดว่าอ้วนแค่ไหนถึงจัดว่าเป็นโรคอ้วน และการศึกษาวิจัยใหม่พบว่า การวัดโรคอ้วนในคนอายุมากด้วยวิธีเดียวกับในคนอายุน้อย อาจได้ผลที่ไม่ถูกต้อง
ปัจจุบันนี้ นักวิจัยใช้ดัชนีมวลสารของร่างกายในการวัดความอ้วนความผอม ดัชนีมวลร่างกายหรือ Body Mass Index ที่เรียกย่อๆ ว่า MBI นั้น มาจากการเปรียบเทียบน้ำหนักตัว กับส่วนสูงของบุคคลและคิดคำนวณออกมาเป็นอัตราส่วน นักวิจัยพบว่าคนที่มี MBI สูงจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคภัยไข้เจ็บและการเสียชีวิตสูงเป็นเงาตามตัว อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนียวิทยาเขตลอสแอนเจลิสกล่าวว่า วิธีวัดแบบนี้อาจไม่ใช่สิ่งบ่งชี้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บในคนสูงอายุ
ปรีดี ศรีคันธาน ผู้เชี่ยวชาญที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนียอธิบายว่า คนเรานั้นเมื่ออายุมากขึ้น ส่วนสูงจะลดลง ขณะที่มีความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของกระดูก และปริมาณมวลกล้ามเนื้อก็จะลดลงด้วย ผลก็คือ ดัชนีมวลร่างกายอาจไม่ถูกต้องนัก ในการใช้วัดความอ้วนความผอมในคนสูงอายุ นักวิจัยบางคนคิดว่า การใช้ขนาดรอบเอวในการวัดความอ้วนผอม อาจได้สิ่งบ่งชี้ที่ดีกว่าดัชนี MBI
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนีย ซึ่งศึกษาข้อมูลต่างๆ ของคนสูงอายุจำนวนมากในเวลาราว 10 ปี พบว่า การวัดที่ถูกต้องกว่านั้น คือ อัตราส่วนเปรียบเทียบขนาดรอบเอวกับรอบสะโพก
ปรีดี ศรีคันธาน กล่าววว่า อัตราส่วนเปรียบเทียบขนาดรอบเอวกับรอบสะโพก จะบอกถึงปริมาณไขมันในบริเวณช่องท้อง เทียบกับปริมาณไขมันในบริเวณช่วงสะโพกตอนบน ซึ่งจะรวมถึงมวลกล้ามเนื้อด้วย จากการศึกษาในเวลา 12 ปี นักวิจัยพบว่า อัตราส่วนรอบเอวกับรอบสะโพกที่มากกว่า เป็นสิ่งบ่งชี้ที่ถูกต้อง กว่าในเรื่องความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในคนอายุ 60 ปีขึ้นไป
การที่อัตราส่วนเปรียบเทียบขนาดรอบเอว กับรอบสะโพกเป็นสิ่งบ่งชี้ที่ถูกต้องกว่าขนาดรอบเอวอย่างเดียวนั้น บ่งชี้ถึงความสำคัญของมวลกล้ามเนื้อ ดังนั้นในการรักษาสุขภาพ การเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อจึงเป็นเรื่องสำคัญ นักวิจัยกล่าวว่า คนสูงอายุ จะยังคงสุขภาพดีอยู่ได้ หากยังทำกิจกรรมต่างๆ อยู่เสมอ หรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และว่าผลการวิจัยแสดงว่า การรักษากล้ามเนื้อให้แข็งแรงเป็นกุญแจสำคัญของการรักษาสุขภาพ
รายงานการวิจัยของ ปรีดี ศรีคันธาน ลงพิมพ์ในวารสาร Annals of Epidemiology