เมื่อเร็วๆ นี้ คุณ Muhammad Yunus ชาวบังกลาเทศเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ผู้ริเริ่มแนวคิดเรื่องสินเชื่อรายย่อย ได้ทำพิธีเปิดศูนย์วิจัยแห่งใหม่ในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยลดปัญหาความยากจน ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ศูนย์วิจัยแห่งใหม่นี้เป็นศูนย์วิจัยแห่งแรก นอกประเทศบังกลาเทศ ที่คุณ Muhammad Yunus ผู้ก่อตั้งธนาคารสินเชื่อรายย่อย จัดตั้งขึ้นเพื่อให้เงินกู้จำนวนไม่มากนักแก่คนยากจน ซึ่งแนวคิดแก้ไขปัญหาความยากจนนี้ ได้ทำให้คุณ Yunus ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2006 สำหรับศูนย์วิจัยในประเทศไทย จะตั้งอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีเอเชียน หรือ AIT ทางเหนือของกรุงเทพนหานคร โดยศูนย์แห่งนี้จะศึกษาแนวทางต่างๆ ที่ช่วยให้คนยากจนในชนบทสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของตน ได้ผ่านทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรของตัวเอง
ในพิธีเปิดศูนย์อย่างเป็นทางการเมื่อวันพุธ คุณ Yunus กล่าวว่าบรรดาผู้ก่อตั้งศูนย์คาดหวังว่า จะสนับสนุนให้นักวิจัยรุ่นใหม่เกิดทัศนคติว่า ทั้งตนเอง ธุรกิจและเทคโนโลยี ล้วนเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน
เจ้าของรางวัลโนเบลผู้นี้กล่าวว่าบทบาทของศูนย์วิจัย Yunus คือการรวมธุรกิจ และคนรุ่นใหม่เข้าด้วยกัน ทำงานร่วมกันเพื่อหลอมรวมเทคโนโลยี และแนวคิดใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่มีจุดมุ่งเพื่อสร้างโลกใหม่ ที่แตกต่างไปจากเดิม โดยศูนย์วิจัย Yunus จะร่วมทำงานด้านการลดปัญหาความยากจน เพิ่มเติมจากโครงการที่ AIT มีอยู่แล้ว เช่นโครงการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการลดปัญหาความยากจน ในภาคการจัดการทางการเกษตรในประเทศลาว หรือเรียกสั้นๆ ว่า PRAM
คุณ Peter Haddaway รองประธานฝ่ายวิชาการของ AIT กล่าวว่า โครงการ PRAM คือการอบรมสำหรับการพัฒนาในประเทศที่ยากจนที่สุดประเทศหนึ่ง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแตกต่างจากโครงการอบรมการพัฒนาระยะสั้น ที่ไม่ปะติดปะต่อซึ่งมีอยู่มากมาย
รองประธานฝ่ายวิชาการของ AIT ระบุว่า โครงการ PRAM จะข่วยให้นักศึกษามีทักษะทุกอย่าง ที่จำเป็นในการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งมีความสลับซับซ้อนนอกจากนี้ ศูนย์วิจัย Yunus ยังจะร่วมมือกับศูนย์ดาวเทียมของ AIT ในเวียดนามและอินโดนีเซียด้วย โดยโครงการแรกของศูนย์วิจัย Yunus คือการช่วยยกระดับการศึกษา ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้