ป้องกันอย่างไร ไม่ให้เด็กกลายเป็นอันธพาล ในยุคเทคโนโลยีเช่นนี้

เด็กบางคนคิดว่าการหาเรื่องเด็กคนอื่นๆ ที่แตกต่างจากพวกตนนั้นเป็นเรื่องโก้เก๋ เด็กอันธพาลเหล่านั้นจะกลั่นแกล้งเด็กอื่นด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการชกต่อยหรือเรียกชื่อด้วยคำหยาบคาย ไปจนถึงพูดจาเยาะเย้ยและนินทาว่าร้าย ซึ่งเด็กอันธพาลจะรู้สึกชอบอกชอบใจเมื่อเห็นคนอื่นเจ็บปวด

และในยุคสมัยที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ได้ทำให้การกลั่นแกล้งเด็กคนอื่นยิ่งเพิ่มมากขึ้นด้วยวิธีการที่ต่างออกไป อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นเรื่องสำคัญและเป็นไปได้ที่จะหาทางยุติการกระทำของเด็กอันธพาล

น้อง Brigitte Berman วัย 15 ปี เป็นผู้หนึ่งที่รู้ดีเรื่องการกระทำของเด็กอันธพาล ซึ่งมีตั้งแต่การใช้ความรุนแรงทางร่างกาย เช่นชกต่อยหรือเตะเด็กคนอื่นๆ การใช้วาจาเยาะเย้ยถากถางให้เจ็บใจ เช่นต่อว่าคนอื่นว่าอ้วนหรือน่าเกลียด ไปจนถึงการนินทาว่าร้ายและไม่คบค้าสมาคมด้วย และปัจจุบันยังมีการกลั่นแกล้งผู้อื่นผ่านทางอินเตอร์เนตด้วย

น้อง Brigitte เพิ่งจะเผยแพร่ผลงานหนังสือเล่มแรกของเธอออกมา โดยใช้ชื่อว่า Dorie Witt's Guide to Surviving Bullies ที่แม้จะเป็นเรื่องแต่ง แต่ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากประสบการณ์จริงของคนที่ถูกอันธพาลกลั่นแกล้ง ซึ่งเธอรวบรวมข้อมูลส่วนใหญ่จากทางอินเตอร์เนต ในหนังสือเล่มนี้ เธอแนะนำว่า คนที่อยู่ในเหตุการณ์อาจมีบทบาทสำคัญในการหยุดยั้งการระรานของอันธพาลได้ โดยช่วยเป็นทั้งพยาน ผู้ขัดขวางและผู้ปกป้อง

นักประพันธ์รุ่นเยาว์ผู้นี้บอกว่าผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ อาจเข้าช่วยด้วยการพูดจากระตุ้นให้คนพาลเหล่านั้นยุติการกระทำ หรืออาจจะช่วยปลอบประโลมเด็กที่ถูกทำร้าย หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว รวมทั้งช่วยตามผู้ใหญ่สักคนที่เชื่อถือได้ ให้เข้ามาจัดการเรื่องราว ซึ่งวิธีสุดท้ายนี้เป็นสิ่งสำคัญตามความเห็นของคุณ Barbara Coloroso นักจิตวิทยาผู้แต่งหนังสือเรื่อง The Bully, the Bullied and the Bystander หรือเด็กพาล เด็กที่ถูกหาเรื่องและผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ เธอเสริมว่าคนทั่วไปไม่ควรคิดว่าการกระทำที่รุนแรง และทำร้ายผู้อื่นเป็นเรื่องปกติของเด็กๆ และวัยรุ่น

คุณ Coloroso บอกว่าทุกคนควรเห็นเป็นเรื่องใหญ่ที่เด็กๆ เรียกเด็กคนอื่นด้วยชื่อที่หยาบคายหรือน่าเกลียดซึ่งเกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ ศาสนาและเพศ หรือความบกพร่องทางร่างกายและจิตใจ ตลอดจนสถานะทางเศรษฐกิจของเด็กที่ถูกล้อเลียน เธอแนะนำว่าเมื่อครูหรือผู้ปกครองสามารถจับตัวเด็กพาลหรือเด็กที่มุง และส่งเสียงเชียร์หรือเสียงหัวเราะอยู่รอบๆ ได้ ผู้ใหญ่ควรจะให้เด็กเหล่านั้นแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน ไม่ใช่แค่ให้เด็กรับปากว่าจะไม่ทำอีก และที่สำคัญ ผู้ใหญ่ต้องระลึกอยู่เสมอว่า การกลั่นแกล้งในทุกวันนี้แตกต่างจากเมื่อครั้งที่พวกตนยังเป็นเด็กมาก เพราะเมื่อก่อนนั้น การรังแกหาเรื่องมักจะเกิดแค่ในโรงเรียน แต่ปัจจุบันสามารถเกิดขึ้นได้ทางอินเตอร์เนตทุกวันทุกเวลา เช่นการส่งข่าวลือร้ายๆกระจายผ่านทางโลกไซเบอร์ คุณ Coloroso ยังบอกด้วยว่าปกติเด็กที่โดนรังแกมักจะไม่บอกใคร เนื่องจากกลัวและอับอาย ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรพยายามสังเกตุพฤติกรรมของลูกๆ ให้ดีว่ามีอะไรเปลี่ยนไปหรือไม่ แกล้งปวดหัวปวดท้องไม่อยากไปโรงเรียนหรือเปล่า ผลการเรียนตกลงหรือไม่อย่างไร

และเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กกลายเป็นคนพาล นักจิตวิทยาผู้นี้แนะนำให้ผู้ใหญ่สั่งสอนเด็กๆ ตั้งแต่ยังเล็กให้มีความอดทนและยอมรับความแตกต่างของคนแต่ละคน เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้เด็กๆเติบโตขึ้นมาโดยไม่เห็นดีเห็นงามกับการหาเรื่องหาราว หรือคิดว่าการเป็นอันธพาลนั้นเป็นเรื่องโก้เก๋แต่อย่างใด