รมต.ต่างประเทศของ 25 ร่วมการประชุมของสมาคมอาเซียน ที่จังหวัดภูเก็ต

การรักษาความสงบเรียบร้อยที่จังหวัดภูเก็ต เป็นไปอย่างเข้มงวดกวดขันในสัปดาห์นี้ ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศของ 25 ประเทศมาร่วมการประชุมของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศคู่เจรจา

เรื่องการก่อการร้ายนั้น จะเป็นเรื่องที่อยู่ในสมองของบรรดาผู้แทน หลังจากเหตุการณ์วางระเบิดโรงแรมสองแห่งในกรุงจาการ์ตาเพิ่งเกิดขึ้นไปอย่างสดๆ ร้อนๆ ทำให้คนเสียชีวิตอย่างน้อยเก้าราย

เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยหนึ่งหมื่นกว่าคน กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่จังหวัดภูเก็ต และยังมีการนำกฎหมายรักษาความมั่นคงภายในมาใช้ ตลอดจนห้ามการประท้วง ที่จังหวัดแห่งนั้นทั้งนี้เพราะประเทศไทยไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เหมือนเมื่อเดือนเมษายนอีก

โฆษกของรัฐบาล ปณิธาน วัฒนายากรกล่าวไว้ตอนนี้ว่า "รัฐบาลไทยมั่นใจมากว่า จะรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพไว้ได้อย่างแน่นอน องค์การและประชาชน และสำนักงานต่างๆ รวมทั้งองค์การพลเรือนในสังคมให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง"

เรื่องการต่อต้านการก่อการร้าย คงจะเป็นหัวข้อการประชุมที่ทรงความสำคัญหัวข้อหนึ่ง ในระเบียบวาระการประชุมหลังจากเกิดการวางระเบิดโรงแรมสองแห่ง ในกรุงจาการ์ตาทำให้คนเสียชีวิตอย่างน้อยเก้าราย นักวิเคราะห์รวมทั้งคุณโรฮาน กูนารัตนา ผู้อำนวยการของศูนย์การวิจัยเกี่ยวกับการต่อต้านการก่อการร้ายที่มหาวิทยาลัยนานยางเทคโนโลยีที่สิงคโปร์ เชื่อว่ากลุ่มเจมาอะห์ อิสลามิยาห์ซึ่งเกี่ยวพันกับข่ายงานก่อการร้ายอัล ไคด้าเป็นผู้ก่อเหตุร้ายดังกล่าว

คาดว่าเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ จะได้รับการนำมาถกอภิปรายกันในการประชุมของสมาคมอาเซียนคราวนี้ด้วย ประเทศไทยหวังว่าจะจัดแจงให้มีการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการ กับเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น รัสเซียและสหรัฐเกี่ยวกับการลดอาวุธ

เรื่องที่จะนำมาถกกันอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องพม่า ซึ่งกำลังกระชับความสัมพันธ์และความสัมพันธ์ทางทหารกับเกาหลีเหนือ

คุณเดบบี้ สต๊อดฮาร์ด ผู้ประสานงานของข่ายงานทางเลือกสำหรับอาเซียนกล่าวไว้ตอนนี้ว่า " ภูมิภาคนี้ต้องจัดการกับเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติ การที่ประชาชนจากพม่าจำนวนมากมายย้ายเข้ามาและเรื่องการระบาดของโรคต่างๆ เพราะรัฐบาลทหารพม่าเป็นต้นเหตุนั้นมานานเป็นปีๆ แล้ว มาตอนนี้เรายังต้องพิจารณาเรื่องการที่คณะทหารพม่า และเกาหลีเหนือร่วมมือกันมากยิ่งขึ้นอีกเรื่องหนึ่งด้วย" เธอกล่าวด้วยว่า อาเซียนและประเทศคู่เจรจา ควรเป็นห่วงเรื่องที่มีรายงานว่าพม่าอาจกำลังพยายามให้เกาหลีเหนือส่งอาวุธ และเทคโนโลยีด้านขีปนาวุธแก่พม่า

ส่วนเรื่องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนนั้น บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศอนุมัติเรื่องนั้นไปแล้วในวันจันทร์ แต่เจ้าหน้าที่อาเซียนยอมรับว่า คณะกรรมการดังกล่าวจะไม่มีอำนาจในการลงโทษรัฐที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยที่ภาคีสมาคมอาเซียน มิได้เห็นพ้อง ผู้บรรยายวิชาวิเทศสัมพันธ์และเอเชียคดีศึกษาที่มหาวิทยาลัยแคนเบอร์ร่า ประเทศออสเตรเลีย คริสโตเฟอร์ โรเบิร์ตส์ กล่าวว่า นอกจากพม่าแล้ว ประเทศอย่างเช่น ลาว กัมพูชาและเวียตนามก็รู้สึกสบายใจ ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนดังกล่าวอ่อนแอ เพราะประเทศเหล่านั้นต่างก็มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนเหมือนๆกับพม่า เขากล่าวด้วยว่า เรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจ น่าจะเป็นเรื่องที่มีการทุ่มเวลาในการพิจารณาหารือกันมากกว่าประเด็นอื่นๆ ขณะที่รัฐบาลของทุกประเทศกำลังขบแก้วิกฤติกาลการเงินอยู่

บรรดารัฐมนตรีจะร่างแผนงานด้านการบรรเทาทุกข์ สำหรับยามที่เกิดภัยพิบัติ การต่อต้านการก่อการร้าย การระบาดของโรคภัยไข้เจ็บ และเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติ