ASEAN แถลง ประเทศผู้บริจาคเงินช่วยเหลือพม่า พยายามติดต่อขอการยืนยันความร่วมมือจากพม่า

สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN แถลงว่า ประเทศต่างๆ ที่บริจาคทุนช่วยเหลือการฟื้นฟูบูรณะแก่พม่า หลังจากที่พม่าถูกพายุไซโคลนโหมกระหน่ำเมื่อปีที่แล้ว กำลังงพยายามติดต่อ ขอการรับรองยืนยันการร่วมมือจากทางการพม่า

บรรดาประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ และองค์การหน่วยงานความช่วยเหลือต่างๆ กำลังวิตกในเรื่องที่พม่าอาจลดช่องทางการเข้าพม่า หลังจากที่รัฐบาลทหารของพม่ายกเลิกกลไกสำหรับการพิจารณาออกวีซ่าแบบรวบรัดเป็นพิเศษ แก่ชาวต่างชาติผู้ปฏิบัติงานบรรเทาทุกข์

ผู้แทนจากสมาคมประชาชาติ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN ประชุมกับผู้แทนของบรรดาประเทศผู้บริจาคเงินทุนช่วยเหลือ และองค์การหน่วยงานบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศที่กรุงเทพมหานนครในวันพุธ ผู้แทนราว 30 คน หารือกันเกี่ยวกับการดำเนินงานช่วยเหลือการฟื้นฟูบูรณะ พื้นที่ประสพวาตภัยพายุไซโคลนนากิสในพม่าเมื่อปีที่แล้ว

เลขาธิการสมาคม ASEAN ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวกับผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีความวิตกเกี่ยวกับประสิทธิภาพ ของความช่วยเหลือพม่าและว่า ตอนนี้ เจ้าหน้าที่พม่าต้องการให้กลุ่มช่วยเหลือทั้งหลาย ดำเนินการตามขั้นตอนระเบียบปฏิบัติทางรัฐการที่เชื่องช้า ในการขอเข้าไปปฏิบัติงานในพม่า

ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวว่า ผู้แทนที่ร่วมการประชุม อยากขอให้รัฐบาลพม่าชี้แจงอย่างแจ่มแจ้ง และขอการรับรองยืนยันใหม่จากรัฐบาลพม่าว่า จากนี้ไป ประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ และหน่วยงานบรรเทาทุกข์ต่างๆ จะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ เข้าไปปฏิบัติงานในพม่าได้อย่างเต็มที่ และประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ และหน่วยงานบรรเทาทุกข์เหล่านั้น จะประสานงานกันอย่างเต็มที่ในการนำความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ประสพภัยพิบัติ

เลขาธิการสมาคม ASEAN กล่าวว่า การดำเนินงานอย่างประสานกัน เป็นกลุ่มของสามฝ่ายที่มาร่วมการประชุมนี้เป็นไปด้วยดีในช่วง 6 เดือนแรกหลังพายุใหญ่นั้น แต่หลังจากการดำเนินงานบรรเทาทุกธ์ปรับเปลี่ยนเป็นแผนการฟื้นฟูบูรณะ ทางการพมม่าให้ยกเลิกการปฏิบัติงานดังกล่าว และการพิจารณาอนุมัติออกวีซ่าให้เจ้าหน้าที่ต่างประเทศ ผู้ปฏิบัติงานเริ่มช้าลง

ดร. สุรินทร์กล่าวชี้ว่า การที่ทางการพม่าควบคุม และดำเนินคดีนางอองซานซูจี ผู้นำในการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่านั้น กำลังมีผลกระทบความรู้สึก ของบรรดาผู้ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งที่ประชุมนี้เห็นกันว่า เรื่องนี้อาจเป็นการบั่นทอนความตั้งใจช่วยเหลือ ของบรรดาสมาชิก และอาจมีความล่าช้า และการสงวนท่าที และอาจมีการพิจารณาทบทวน เกี่ยวกับการดำเนินงานช่วยเหลือต่อไป

อย่างไรก็ตาม เลขาธิการสมาคม ASEAN กล่าวว่า บรรดาประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือไม่ได้นำเรื่องการปล่อยนางอองซานซูจีมาเป็นเงื่อนไขสำหรับการให้ความช่วยเหลือ

เมื่อเดือนที่แล้ว ASEAN ออกแถลงการณ์แข็งกร้าวที่สุด ร่วมกับนานาชาติวิพากษ์ตำหนิรัฐบาลพม่าและเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนางอองซานซูจี

เดิมนั้น ASEAN เคยมีท่าทีผ่อนปรนกว่านี้กับทางการพม่า โดยให้เหตุผลว่า การใช้วิธีผ่อนปรนช่วยในการเจรจา ให้พม่ายินยอมให้มีการส่งความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ไปยังพม่า

ในตอนแรกนั้น รัฐบาลทหารของพม่า ปฏิเสธความช่วยเหลือของต่างประเทศอยู่หลายสัปดาห์ ซึ่งผู้วิพากษ์ตำหนิกล่าวว่า หากความช่วยเหลือไปถึงเร็วกว่านั้น อาจช่วยชีวิตผู้ประสพภัยได้เป็นจำนวนมาก วาตภัยนั้นทำให้ประชาชนเสียชีวิตราว 140,000 คน และมากกว่า 2 ล้านคนถูกกระทบกระเทือนไร้ที่อยู่อาศัย

หลังจากที่ทางการพม่า ยอมให้ต่างประเทศเข้าไปช่วยเหลือ มีการส่งความช่วยเหลือบรรเทาทุกธ์ไปยังพิ้นที่ประสพภัยพิบัติ บริเวณปากแม่น้ำอิรวดีเป็นมูลค่าราว 300 ล้านดอลลาร์ หน่วยงานบรรเทาทุกข์กำลังขอความช่วยเหลือเพิ่มอีก 700 ล้านดอลล่าร์ สำหรับการฟื้นฟูบูรณะ