การศึกษาวิจัย เรื่องการฝังเข็ม เพื่อบรรเทาอาการปวดหลังช่วงล่าง

อาการปวดหลังช่วงล่างเรื้อรัง เป็นอาการที่พบเห็นกันโดยทั่วไป และการบำบัดรักษาอย่างมีประสิทธิภาพนั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วย ใช้ยา ออกกำลังกาย หรือทำกายภาพบำบัด แต่การรักษาเหล่านั้น ก็อาจจะไม่ได้ผล เสมอไป ดังนั้นผู้ป่วยบางคน จึงมองหาทางเลือกใหม่ อย่างเช่นการฝังเข็ม

ด้วยเหตุที่การรักษาอาการปวดหลังด้วยทางเลือกใหม่ กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นนั้น

คณะนักวิจัยจากศูนย์การศึกษาด้านสุขภาพ ในนครซีแอตเติล และสถาบันอื่นๆ จึงศึกษาวิจัยเพื่อการเปรียบเทียบ ผลของการบำบัดรักษาแบบธรรมดา กับผลของการรักษาด้วยการฝังเข็ม

มีอาสาสมัครเข้าร่วมการศึกษาวิจัยครั้งนี้กว่า 600 คน ซึ่งนักวิจัยได้แบ่งอาสาสมัครดัง กล่าวออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน

อาสาสมัคร 2 กลุ่มแรก ได้รับการรักษาด้วยการฝังเข็มแบบต่างๆ กัน ส่วนกลุ่มที่ 3 ได้รับการ รักษาด้วยวิธีการเลียนแบบการฝังเข็ม แต่เป็นการใช้ไม้จิ้มฟันแทน นักวิจัยนำ ผลการรักษา ของอาสาสมัครทั้ง 3 กลุ่ม มาเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับการบำบัดรักษา ทางการแพทย์แบบทั่วๆ ไป อย่างเช่นการใช้ยาอย่างปกติ หรือการทำกายภาพบำบัดเป็นต้น

นักวิจัยพบว่า วิธีการฝังเข็มนั้น มีประสิทธิภาพมากกว่าการรักษาทางการแพทย์แบบปกติ กล่าวคือ ก่อนรับการบำบัดรักษา อาการปวดหลังทำให้อาสาสมัครกลุ่มนี้ ไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมต่างๆโดยเฉลี่ย 11 อย่างด้วยกัน

นายแพทย์ Dan Cherkin ผู้นำในการศึกษาวิจัยครั้งนี้กล่าวว่า หลังจากเริ่มการบำบัดรักษา 7 สัปดาห์ กลุ่มอาสาสมัครที่ได้รับการรักษา แบบปกติทั่วไปนั้น กิจกรรมต่างๆ ที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ลดลงเหลือ 9 อย่าง แต่ในอาสาสมัครที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการฝังเข็ม หรือวิธีเลียน แบบการฝังเข็ม กิจกรรมที่ทำไม่ได้ลดลงเหลือเพียง 6 อย่าง และผลดังกล่าวยังมีอยู่เป็นเวลา 1 ปีต่อมา

นายแพทย์ Dan Cherkin กล่าวต่อไปว่า ไม่มีความแตกต่างใดๆ ที่เห็นได้ชัดในการฝังเข็มด้วยวิธีที่แตกต่างกัน หรือแม้แต่การรักษาด้วยวิธีการเลียนแบบการฝังเข็มก็ตาม

การศึกษาวิจัยของนายแพทย์ Cherkin ชี้แนะว่า ถ้าหากใครที่มีอาการปวดหลัง และ รับการบำบัดรักษาในทางการแพทย์แบบปกติแล้วไม่หาย ก็อาจลองพิจารณาวิธีการฝังเข็มดูก็ได้

นายแพทย์ Cherkin กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยแล้ว ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการฝังเข็มนั้น มีประสิทธิภาพในการช่วย บรรเทาอาการเจ็บปวด ที่การบำบัดรักษาแบบอื่นๆ อาจไม่สามารถช่วยได้ และว่าอาสาสมัครทั้ง หมดในการศึกษาครั้งนี้ ไม่เคยเข้ารับการรักษาด้วยการฝังเข็มมาก่อนเลย และมีอาสาสมัคร 1 ใน 5 คน ที่ได้รับประโยชน์ในการฝังเข็มในระยะสั้นๆ ครั้งนี้

และสำหรับบรรดาแพทย์ทั้งหลาย ผลการศึกษานี้ แสดงให้เห็นว่า การฝังเข็มเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ป่วย ที่รักษาด้วย วิธีอื่นไม่ได้ผล หรือที่ได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาแก้ปวด หรือแก้อักเสบ

การศึกษาวิจัยของนายแพทย์ Dan Cherkin ลงพิมพ์อยู่ในวารสาร Archives of Internal Medicine ของสมาคมการแพทย์อเมริกัน