สถานการณ์เศรษฐกิจของทวีปเอเชียในปัจจุบัน

ข้อมูลสถิติเกี่ยวกับเศรษฐกิจของทางเอเชียเมื่อเร็วๆ นี้แสดงว่า เครื่องบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ยังคงลดลงไปอย่างขนานใหญ่ต่อไป แต่นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนกล่าวว่ามีสัญญาณส่อนัยให้เห็นถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

พอจะเชื่อแน่ได้ว่า นักเศรษฐศาสตร์ทุกคนในเอเชียเจอคำถามนี้ คือภาวะเศรษฐกิจกำลังจะดีขึ้นหรือยัง? ข้อมูลต่างๆ จากทางเอเชียกำลังขัดกันอยู่

เศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสที่สิ้นสุดลง ในเดือนมีนาคมถดถอยมากกว่าของช่วงเดียวกันเมื่อปีกลายอยู่ร้อยละสิบห้า นับว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นถดถอยมากที่สุด ในรอบห้าสิบกว่าปีมานี้ สินค้าออก ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเศรษฐกิจลดลงไปร้อยละยี่สิบหก

แต่ทว่ามีสัญญาณส่อว่าในเดือนเมษายนนั้น ความมั่นใจของผู้บริโภคในประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลกเขยิบสูงขึ้นมากที่สุดในรอบสิบเดือน การส่งออกในเดือนมีนาคมมีปริมาณสูงกว่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่น กาโอรุ โยซาโนกล่าวว่า"ช่วงตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมนั้นเศรษฐกิจแย่ที่สุดและว่าเศรษฐกิจค่อยฟื้นตัวขึ้นมาบ้างแล้ว"

ประธานาธิบดีอินโดนีเซียคาดว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวในปีหน้า ส่วนรัฐมนตรีคลังฮ่องกงคาดว่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยภายในสิ้นปีนี้ ประธานาธิบดีใต้หวันประกาศว่า ช่วงที่เลวร้ายที่สุดผ่านพ้นไปแล้วทั้งๆ ที่เศรษฐกิจยังคงซบเซาอยู่ก็ตาม

ประธานาธิบดีสิงค์โปร์เตือนว่า ภาวะเศรษฐกิจจะเลวร้ายในปีนี้ เขาคาดว่าเศรษฐกิจของสิงค์โปร์จะถดถอยระหว่างหกถึงเก้าเปอร์เซ็นต์ แต่ทว่ากระทรวงการค้าสิงค์โปร์ รายงานในวันพฤหัสบดีว่าเมื่อเปรียบเทียบอัตราการขยายตัวของผลผลิตรวมของสิงค์โปร์ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้กับของไตรมาสก่อนหน้านั้นจะเห็นได้ว่าชลอลง

ทางด้านจีน ปริมาณการจำหน่ายปลีกในเดือนเมษายน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วสิบห้าเปอร์เซ็นต์ ทางการจีนกล่าวว่าเรื่องที่ว่านี้ พิสูจน์ให้เห็นว่าโครงการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจวงเงินห้าแสนแปดหมื่นหกพันล้านเหรียญสหรัฐของจีน ทำงานได้ผล

แต่ทว่าการส่งออกของจีนยังคงมีปริมาณลดลงต่อไป ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นวัดการผลิตของโรงงานนั้นลดลงเจ็ดกว่าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งมากกว่าที่คาดหมายไว้

นาย ฉือ หลิน ผู้อำนวยการฝ่ายการคลัง และกิจการด้านการเงินสังกัดคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาและการปฏิรูปกล่าวว่า มีสัญญาณส่อว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ดังจะเห็นได้ว่า มีการใช้กระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น อันเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า กิจกรรมภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น เขากล่าวว่าสิ่งที่รัฐบาลเป็นห่วงก็คือ การคงเรื่องนั้นให้ดำเนินต่อไป

เขากล่าวไว้ตอนนี้ว่า " เครื่องบ่งชี้ในขณะนี้แสดงว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจของจีนมีลักษณะเป็นรูปตัว วี แต่เครื่องบ่งชี้บางส่วน อาจมิได้สนับสนุนเรื่องนั้น แต่เราไม่สามารถกล่าวได้ว่า เครื่องบ่งชี้ในเดือนเมษายนพิสูจน์ให้เห็นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจรูปตัว "วี"นั้นเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางอื่นแล้ว แต่ถ้าจะมีเครื่องบ่งชี้เพิ่มเติมที่ชี้ว่า การฟื้นตัวกำลังเปลี่ยนทิศทางแล้วละก็ เราอาจจะต้องใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อทำให้การฟื้นตัวรูปตัว "วี" เป็นปึกแผ่นแน่นหนายิ่งขึ้น"

สิ่งที่ทุกคนสามารถหวังได้ในตอนนี้ก็คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นรูปตัว "วี" ซึ่งหมายถึงว่าเศรษฐกิจซบเซาถึงก้นบึ้งแล้วกลับฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แต่นักเศรษฐศาสตร์ยังพูดถึงเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นรูปตัว "ยู" ซึ่งหมายถึงว่าเศรษฐกิจซบเซานานกว่าเดิมแล้วจึงค่อยๆ ฟื้นตัว ที่ร้ายยิ่งกว่านั้นคือการฟื้นตัวรูปตัว "แอล" ซึ่งหมายถึงการที่เศรษฐกิจถดถอยอย่างฮวบฮาบ และหยุดขยายตัวเป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังมีการฟื้นตัวเป็นรูปตัว "ดับเบิ้ลยู" คือพอเศรษฐกิจเริ่มจะฟื้นตัวแล้วเศรษฐกิจกลับไปสู่ภาวะซบเซาอีก

รัฐบาลของประเทศต่างๆ ในเอเชียใช้จ่ายเงินเพื่อนำประเทศให้หลุดพ้นจากวิกฤติกาล อย่างเช่นแจกเงินสดให้ประชาชน สร้างทางหลวงสายใหม่ๆ และออกเงินทุนให้กับโครงการใหม่ๆ เพื่อฟื้นฟูกิจกรรมภาคธุรกิจ บางประเทศอย่างเช่นจีนบ่งชี้ว่า จะนำมาตรการอื่นๆ มาใช้ถ้าความเพียรพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจในชั้นแรกนี้ยังไม่พอเพียง

ไม่ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเป็นไปในรูปใดก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า เรื่องหนึ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนก็คือ เมื่อเอเชียผ่านพ้นวิกฤติกาลครั้งร้ายแรงนี้ไปได้แล้ว รูปโฉมของเศรษฐกิจทางเอเชีย ซึ่งพึ่งการส่งออกเป็นหลักนั้นก็จะเริ่มแสวงหาวิธีการขยายตัว ที่ล่อแหลมน้อยลง คุณฉือ หลินกล่าวว่าควันหลงที่มาจากการที่เศรษฐกิจซุดตัวลงไป ผู้ส่งออกของจีนจะประสพภาวะทางด้านธุรกิจที่แตกต่างไปจากเดิม และเศรษฐกิจจะต้องพึ่งอุปสงค์ภายในประเทศมากยิ่งสำหรับการขยายตัว