รัฐบาลออสเตรเลีย ห้ามการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อปกป้องนกแก้วพันธุ์หายาก

ออสเตรเลียก็เหมือนกับหลายๆ ประเทศทั่วโลก ที่กำลังพยายามจัดสรรให้มีการปกป้องสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมๆ กับการกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

แต่ล่าสุดการตัดสินใจของรัฐบาลออสเตรเลีย ที่ห้ามตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปกป้องนกแก้วพันธ์หายาก ได้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงว่า เป็นมาตรการที่ทำให้คนงานหลายร้อยคนต้องตกงาน

นกแก้วพันธุ์พิเศษซึ่งมีสีสันเขียวสดสวยงาม และมักจะพบในบริเวณป่าทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ของออสเตรเลีย กำลังถูกคุกคามจากการถางป่าประกอบกับไม่มีการปลูกป่าใหม่ๆ ทำให้พื้นที่พำนักอาศัยของนกแก้วหายากชนิดนี้ ลดน้อยลงเรื่อยๆ

รัฐบาลออสเตรเลียประสงค์จะปกป้องนกแก้วพันธุ์นี้ไว้ จึงประกาศมาตรการห้ามตัดไม้ทำลายป่า บริเวณพื้นที่ป่าชายเลนใกล้เมือง Deniliquin ในรัฐ New South Wales ห่างจากนครซิดนีย์ลงไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 725 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการผสมพันธ์ของนกแก้วพิเศษพันธุ์นี้ แต่มาตรการดังกล่าว ก่อให้เกิดกระแสความขุ่นเคืองในอุตสาหกรรมการทำไม้ รวมทั้งรัฐบาลท้องถิ่นรัฐ New South Wales ซึ่งเกรงว่าการตัดสินใจของรัฐบาลออสเตรเลียครั้งนี้ จะเป็นการทำลายเศรษฐกิจส่วนท้องถิ่นได้

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมออสเตรเลีย Peter Garrett ยืนยันที่จะใช้มาตรการห้ามตัดไม้ต่อไป และจะพยายามอธิบายเหตุผลให้บรรดาผู้ต่อต้านได้เข้าใจ

รัฐมนตรี Garrett กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างรวดเร็วที่สุด ทั้งเรื่องการปกป้องไม่ให้มีคนตกงาน และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ล้วนมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน และว่ารัฐบาลมั่นใจว่าจะสามารถรักษาความสมดุลของทั้งสองเรื่องนี้ได้แน่นอน อย่างไรก็ตาม ในภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยเช่นนี้ การพยายามทำให้บรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพออกพอใจ พร้อมๆ กับการปกป้องการจ้างงานไปด้วยนั้น ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยสำหรับรัฐบาลออสเตรเลีย ซึ่งปัญหานี้คือสิ่งที่หลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจนหรือรวยกำลังเผชิญอยู่เช่นกัน

ผู้ที่ต่อต้านมาตรการห้ามตัดไม้ให้เหตุผลว่า นกแก้วพันธุ์พิเศษทำรังอยู่บนต้นไม้ ตามแนวขอบชายป่า และการทำไม้ก็มิได้รบกวนพื้นที่พักอาศัยของนกแก้วเหล่านั้น แต่อย่างใด ในขณะที่คุณ Greg Hunt โฆษกสิ่งแวดล้อมของฝ่ายค้านกล่าวว่า การปกป้องตำแหน่งงานคือภารกิจหลักอันดับแรกที่รัฐบาลควรกระทำ

คุณ Hunt เปิดเผยว่า ในเว็บไซต์ของทางการออสเตรเลียระบุไว้ว่า นกแก้วพันธุ์นี้ มีจำนวนมากมายนับพันนับหมื่นตัว และถูกจัดอยู่ในหมวดรองสุดท้าย ของสายพันธุ์สัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ดังนั้นการที่รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมออสเตรเลีย กำลังพยายามนำงาน 1 พันตำแหน่งไปแลกกับสุขภาพจิตของนกแก้วนั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ในขณะที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้เตือนว่า มาตรการห้ามตัดไม้ของรัฐบาลจะส่งผลให้โรงเลื่อย 11 แห่งต้องปิดตัวลง และจะทำให้อุตสาหกรรมการทำไม้ในแถบนี้ต้องล่มสลาย คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียต่อเศรษฐกิจส่วนท้องถิ่นถึง 100 ล้านดอลล่าร์

อย่างไรก็ตาม ทางด้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระบุว่า ปัจจุบัน มีนกแก้วพันธุ์พิเศษน้อยกว่า 5 พันคู่เหลืออยู่ในป่า และนับว่าเป็นสายพันธุ์สัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ชนิดหนึ่งของออสเตรเลีย