นักวิจัยอังกฤษพบสารเคมีในพลาสติก ที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย

ผลการศึกษาวิจัยล่าสุดของคณะนักวิทยาศาสตร์จากอังกฤษ พบว่า บิสฟินอล เอ หรือ บีพีเอ ซึ่งเป็นสารประกอบทางเคมีที่ใช้ในการทำผลิตภัณฑ์พลาสติกจำนวนมากในชีวิตประจำวัน เช่น ขวดพลาสติกบรรจุน้ำ ขวดโซดาและขวดนมทารก อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย การวิจัยที่ศึกษาข้อมูลของผู้ใหญ่มากกว่า 1,400 คนบ่งชี้ว่าการได้รับสารชนิดนี้มากๆ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคตับได้

ผลการวิจัยซึ่งนำลงตีพิมพ์ในวารสารสมาคมการแพทย์อเมริกัน พบว่าประชากรกลุ่มตัวอย่างทั้งเพศชายและหญิงชาวอเมริกันร้อยละ 93 มีสารบีพีเอสะสมอยู่ในร่างกายในระดับที่แตกต่างกันไป แม้สภาเคมีอเมริกัน ระบุว่า บีพีเอเป็นสารที่ปลอดภัย แต่จากผลการศึกษาชิ้นนี้ชี้ว่าอาจไม่เป็นดังนั้น

นายแพทย์เดวิด เมลท์เซอร์ หัวหน้าคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ เพนินซูลา ในอังกฤษ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลของศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐซึ่งไปสำรวจประชากรวัยผู้ใหญ่เป็นจำนวนกว่า 1,400 คน พบว่า ร้อยละ 25 ของผู้ที่มีสารบีพีเออยู่ในระดับสูงสุดนั้น มีโอกาสเป็นโรคหัวใจหรือเบาหวาน มากกว่าคนอื่นกว่า 2 เท่า

นักวิจัย พบว่า ยิ่งมีสารบีพีเออยู่ในร่างกายมากเท่าใด ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเหล่านี้ก็มากขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังไม่ทราบสาเหตุว่าทำไมบีพีเอจึงทำให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

ศาสตราจารย์ทามารา กัลโลเวย์ จากมหาวิทยาลัยเอกเซตเตอร์ในอังกฤษ กล่าวว่า มีสิ่งบ่งชี้ว่าสารบีพีเอจะทำงานคล้ายกับเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่จะไปขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนชนิดอื่นๆ เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน และอาจจะส่งผลบางอย่างต่อการต้านทานอินซูลิน รวมไปถึงการกระจายของไขมันไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย

นักวิจัยย้ำว่าการศึกษานี้เป็นเพียงรายเดียว แม้จะพบหลักฐานเพิ่มเติมว่าสารบีพีเออาจเป็นพิษได้แม้ได้รับในปริมาณน้อย แต่ยังจะต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไปเพื่อยืนยัน

ผลการศึกษาดังกล่าวมีออกมาในช่วงเวลาเดียวกันกับที่สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐเปิดรับฟังความคิดเห็นของสาธารณชนที่มีต่อสารเคมีชนิดนี้ นักวิทยาศาสตร์จากสำนักงานอาหารและยา บอกว่า บีพีเอเป็นสารที่ปลอดภัยแต่ไม่ควรมองข้ามผลการศึกษาในสัตว์ที่ทำกันมา และยังต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติม

ขณะที่นักเคลื่อนไหวและนักวิทยาศาสตร์อีกจำนวนหนึ่ง เห็นว่า ที่ผ่านมาสำนักงานอาหารและยามองข้ามผลกระทบต่อสุขภาพจากการศึกษาสารบีพีเอในสัตว์ทดลอง และขณะที่มีความเห็นขัดแย้งแตกต่างกันนี้ นักวิทยาศาสตร์บางคนเรียกร้องให้ห้ามใช้สารดังกล่าวในผลิตภัณฑ์บรรจุอาหาร

สำนักงานอาหารและยากำลังทบทวนนโยบายและเรียกร้องคณะกรรมการวิทยาศาสตร์จากภายนอกเสนอความเห็นเป็นครั้งที่ 2 อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานอาหารและยา ยังคงยืนยันว่า ผลิตภัณฑ์พลาสติกบรรจุอาหารและน้ำที่มีสารบีพีเอมีความปลอดภัย และยังไม่จำเป็นที่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค

คุณผู้ฟังครับ ความวิตกกังวลต่อโทษภัยของสารบีพีเอในผลิตภัณฑ์พลาสติกได้สร้างโอกาสให้กับบริษัทหลายแห่งผลิตสินค้าที่ปลอดสารบีพีเอออกสู่ท้องตลาด แต่ในอุตสาหกรรมพลาสติกและบรรจุภัณฑ์อาหาร ซึ่งยังเชื่อมั่นในความปลอดภัยของสารบีพีเอ ระบุว่า ยังไม่มีสารใดที่จะนำมาทดแทนได้เหมือนบีพีเอและเตือนว่าสารเคมีที่เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าบีพีเอในเวลานี้ ในที่สุดแล้วก็อาจจะสร้างปัญหาใหม่ต่อสุขภาพก็เป็นได้