อัตราการเกิดทั่วโลกกำลังลดลง

อัตราการเกิดในหลายประเทศทั่วโลกกำลังลดลง ในยุโรปนั้นลดลงมาหลายสิบปีแล้ว ส่วนในเอเชียเป็นปัญหาที่เริ่มปรากฏให้เห็นชัดในคริสต์ทศวรรษที่ 21

อัตราการเกิดในยุโรปภาคใต้ โดยเฉพาะในอิตาลี กรีซและเสปน เฉลี่ยราวๆ 1.3 เปอร์เซ็นต์ และในเอเชีย โดยเฉพาะในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ อยู่ที่ 1.1% สำหรับประเทศไทย 1.5%

อัตราการเกิดที่เป็นที่ยอมรับกันว่าจะช่วยรักษาจำนวนประชากรให้คงอยู่ในระดับปัจจุบันได้นั้น อยู่ที่ 2.1%

ปัญหาเรื่องอัตราการเกิดกำลังเป็นที่สนใจ อัตราการเกิดต่ำทำให้อัตราส่วนระหว่างคนหนุ่มคนสาวในวัยทำงานกับผู้สูงอายุที่เลิกทำงานแล้ว เปลี่ยนไปโดยมีผู้สูงอายุมากขึ้น การเปลี่ยนที่ว่านี้สามารถก่อผลเสียทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมได้ เพราะเมื่อปริมาณแรงงานลดลง ทำให้รายได้และมาตรฐานการครองชีพของประเทศลดลง

คำถามก็คือ ทำไมอัตราการเกิดในหลายๆ ประเทศทั่วโลกจึงลดลง

อาจารย์ Nathalie Martiniere ยังอยู่ในระหว่างการลาพักงานเพื่อคลอดบุตร เธอคลอดลูกชายเมื่อหกเดือนที่แล้ว และเดือนกันยายนนี้ จะกลับไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยในนคร Limoges ห่างจากกรุง Paris ราวๆ 215 ไมล์

อาจารย์ Nathalie จะไปอยู่ที่มหาวิทยาลัยสี่วันต่ออาทิตย์เพื่อสอนหนังสือ เธอสามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสมีโครงการช่วยเหลือครอบครัวในเรื่องการเลี้ยงลูก

อาจารย์ Nathalie บอกว่า ถ้าเป็นผู้หญิงในเยอรมนี จะทำงานและเลี้ยงลูกในเวลาเดียวกันไม่ได้ง่ายๆ แต่ในฝรั่งเศส ทำได้ง่ายกว่า เพราะรัฐบาลให้ความช่วยเหลือในเรื่องการเลี้ยงดูลูก ไม่ว่าจะส่งเข้าสถานเลี้ยงเด็กตอนกลางวัน หรือจ้างพี่เลี้ยงให้ไปดูแลเด็กที่บ้าน นอกเหนือไปจากบริการรักษาสุขภาพที่ไม่แพง การยกเว้นภาษี และการลาพักงานที่ให้เวลาอย่างเพียงพอสำหรับการคลอดลูก

อัตราการเกิดโดยเฉลี่ยของฝรั่งเศสอยู่ที่ 1.9% สูงที่สุดในหมู่ประเทศสมาชิกของสหภาพ-ยุโรป หรือ EU ทั้ง 27 ประเทศ

กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย อย่างนอร์เวย์ และสวีเดน มีอัตราการเกิด 1.8% ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่าเป็นเพราะนโยบายทางด้านสวัสดิการสังคม และความเสมอภาคทางเพศที่ก้าวหน้าถึงขั้นที่นอร์เวย์กำลังพิจารณาจะอนุญาตให้ผู้ชายลาพักงานเพื่อเลี้ยงลูก และภรรยาจะได้กลับไปทำงานได้

คุณ Francesco Billari นักประชากรศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Bocconi ในเมืองมิลานของอิตาลี ให้ความเห็นว่า นโยบายที่ไม่ได้ผล คือนโยบายที่ยังมองครอบครัวในลักษณะดั้งเดิม ไม่อยากให้ผู้หญิงที่มีลูกทำงาน ให้อยู่บ้านเลี้ยงลูก โดยอาจจะให้เงินโบนัสจำนวนเล็กน้อยเมื่อตอนคลอดลูก

คุณ Mark Pierson ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสังคมขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา เรียกย่อๆ ว่า OECD เห็นด้วยว่า การให้เงินเพื่อให้มีลูกอาจจะเป็นนโยบายที่ไม่ได้ผล

เจ้าหน้าที่ของ OECD ผู้นี้ กล่าวว่า นโยบายให้เงินโบนัสเพื่อจูงใจให้มีลูกได้ผลน้อยมาก ไม่ใช่วิธีที่ดีสำหรับการส่งเสริมอัตราการเกิด วิธีที่ดีที่สุดที่จะสนับสนุนให้ผู้หญิงมีลูกได้มากขึ้น คือการช่วยให้ผู้หญิงได้ทำงานมากขึ้น

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในเรื่องนี้ คืออัตราการเกิดในอเมริกา ซึ่งในปีที่แล้วสูงถึง 2.1% นักวิชาการ Hans-Peter Kohler ของมหาวิทยาลัย Pennsylvania เขียนไว้ในบทวิเคราะห์ว่า อัตราการเกิดสูงเกี่ยวโยงกับการมีผู้หญิงทำงานในอัตราสูง แม้ค่าใช้จ่ายในการมีลูกในอเมริกาจะสูงมาก ในขณะที่นโยบายรัฐบาลในเรื่องการเลี้ยงดูลูกไม่เอื้ออำนวยเหมือนอย่างในฝรั่งเศส แต่ผู้หญิงอเมริกันสามารถมีลูกได้มากกว่า เพราะระบบการทำงานมีความยืดหยุ่นในเรื่องชั่วโมงการทำงาน รวมทั้งการหางานใหม่ทำหลังจากที่ลาออกไปเพื่อมีลูก