ปัญหาความแห้งแล้งในออสเตรเลีย ส่งผลต่อราคาอาหารทั่วโลกอย่างไรบ้าง?

ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่อันดับสามของโลกรองจากสหรัฐและแคนาดานั้น ความแห้งแล้งรุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษ กำลังร้ายแรงยิ่งขึ้น บรรดากสิกรเตือนว่า พืชผลข้าวสาลีฤดูหนาวนี้อาจได้น้อยกว่าปีก่อน หากฝนยังไม่ตกในเร็วๆ นี้ ปกติแล้ว ธัญญพืชส่วนใหญ่ของออสเตรเลีย จะถูกส่งออก และการที่ไม่มีธัญญหารเก็บสำรองไว้ในยุ้งฉาง มีส่วนทำให้เกิดภาวะขาดแคลน และราคาอาหารทั่วโลกสูงขึ้น

ขณะที่ความแห้งแล้ง ยังไม่มีทีท่าว่าจะผ่อนเพลาลง โอกาสที่กสิกรออสเตรเลียจะเพาะปลูกข้าวได้ผลดีก็ดูจะน้อยลง

Jack Lawrieนายกสมาคมกสิกร New South wales กล่าวว่า ในฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา อากาศในหลายส่วนของรัฐNew South walesทางตะวันตกเฉียงใต้ของออสเตรเลียแห้งแล้งมาก ทำให้ต้องคาดทำนายผลการผลิตข้าวสาลีลดลง หากความแห้งแล้งยังไม่บรรเทา ก็ต้องลดการคาดหวังผลผลิตลงไปอีก จนกว่าจะมีฝนตกพอทั่วแถบบริเวณที่ปลูกข้าวสาลี

ความแห้งแล้งครั้งใหญ่ในระยะห้าปีที่ผ่านมา ทำให้ครอบครัวกสิกรออสเตรเลียมากกว่า 10,000 ครอบครัวต้องละทิ้งที่ดิน

ข้าวสาลีที่ออสเตรเลียเก็บเกี่ยวได้ส่วนใหญ่ ส่งไปขายในตะวันออกกลางและในเอเชีย ผลเก็บเกี่ยวไม่ดี ปีที่แล้ว มีส่วนทำให้เกิดวิกฤตการณ์อาหารในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ขณะที่ปริมาณข้าวสาลีลดน้อยลงและความต้องการสูงขึ้นผลักดันให้ราคาสูงขึ้น

เจ้าหน้าที่รัฐNew South walesกล่าวว่า เมื่อปีที่แล้วได้ผลผลิตข้าวสาลีราว 1,800,000 ตัน ลดลงจากที่เคยได้โดยเฉลี่ยราว 5,700,000 ตัน ในปีก่อนๆ ซึ่งทำให้ออสเตรเลียส่งออกข้าวสาลีไม่ได้มากอย่างเคย และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาอาหารทั่วโลกสูงขึ้น

เจ้าหน้าที่ออสเตรเลียลดการคาดการณ์ผลการผลิตปีนี้ลง 9 %เหลือเพียง 24 ล้านตัน แต่มีข่าวดีสำหรับการเพาะปลูกข้าวจ้าวรุ่นต่อไป ซึ่งคาดว่าจะได้ราว 253,000 ตัน เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 19,000 ตันที่เพิ่งเก็บเกี่ยวไปหลังจากภาวะแห้งแล้งหนัก และคาดว่าการเก็บเกี่ยวคาโนลาที่ใช้เมล็ดทำน้ำมันก็จะได้ผลดีกว่าปีก่อนด้วย

ชาวออสเตรเลียเองก็ต้องจ่ายค่าอาหารแพงขึ้นถึง 45%ในเวลาสิบปีที่ผ่านมา

ชาวนาข้าวสาลีในออสเตรเลียผู้เพาะปลูกได้ผลในปีนี้และหวังว่าจะได้ผลกำไรบ้างจากการที่ราคาข้าวสาลีสูงขึ้น แต่ผลกำไรที่ได้ก็จะลดลงเนื่องจากราคาเชื้อเพลิงและปุ๋ยแพงขึ้น