ตามสายตาของคนทั่วไป แม้จะดูแล้วดูอีก ไก่ตัวเล็กๆ ที่เรารับประทานกันทุกวันนี้ ก็ไม่เหมือนไดโนเสาร์สัตว์ยุคดึกดำบรรพ์ตัวโตมหึมาไปได้ แต่นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานมากขึ้นว่า ไดโนเสาร์ชนิดกินเนื้อ ชื่อ Tyrannosaurus Rex ที่เรียกกันย่อๆ ว่า T-Rex นั้น เป็นบรรพบุรุษของไก่ที่เราเลี้ยงไว้เป็นอาหารทุกวันนี้
ในรายงานการศึกษาที่ลงพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Science เมื่อเร็วๆนี้ นักวิทยาศาสตร์บอกว่า มีหลักฐานยืนยันมากขึ้นสำหรับข้อสันนิษฐานที่ว่า ไก่สมัยนี้สืบทอดสายพันธุ์มาจากไดโนเสาร์ Tyrannosaurus Rex หรือ T-Rex
ทฤษฎีนี้เริ่มจากนักวิทยาศาสตร์เห็นว่า โครงสร้างกระดูกไดโนเสาร์ชนิดนี้กับของไก่ปัจุบันมีความคล้ายคลึงกัน
นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้กล่าวว่า โครงสร้าง gene หรือเชื้อพันธุ์ของไดโนเสาร์ T-Rex คล้ายกับของไก่มากกว่าของสัตว์เลื้อยคลาน อย่างจระเข้ในยุคปัจจุบัน โครงสร้างเชื้อพันธุ์ของไดโนเสาร์ T-Rex ยังคล้ายกับของนกกระจอกเทศ ซึ่งเป็นสัตว์ปีกขนาดใหญ่บินไม่ได้ด้วย
ที่นักวิทยาศาสตร์สามารถบ่งชี้ถึงความคล้ายคลึงกันนี้ได้นั้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากเมื่อปี 2546 นักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัย Montana State ชื่อ John Horner พบซากฟอสซิลของไดโนเสาร์ T-Rex ตัวหนึ่งในบริเวณแนวหิน “Hell Creek Formation” ระหว่างรัฐม็อนทานากับรัฐไวอ็อมมิง ซากฟอสซิลที่ขุดออกมาจากบริเวณแนวหินนั้น เป็นซากไดโนเสาร์ T-Rex ตัวไม่โตนัก ตายเมื่ออายุประมาณ 18 ปี
นักวิทยาศาสตร์ที่พิพิธภัณฑ์ Rockies ในรัฐม็อนทานาใช้เวลานานสามปี จึงขุดซากนั้นออกมาได้ แต่พื้นที่อยู่ห่างไกลจากถนนมาก และซากฟอสซิลนั้นก็หนักเกินกว่าที่จะใช้เฮลิคอปเตอร์ยกออกมา ศาสตราจารย์ John Horner เล่าว่า นักวิทยาศาสตร์จำต้องทำในสิ่งที่มักหลีกเลิ่ยงป้องกันไม่ให้ทำกัน คือการตัดแบ่งซากฟอสซิลนั้นแยกออกเป็นท่อนๆ แต่ทว่าการตัดแบ่งแยกนั้นทำให้นักวิทยาศาสตร์พบสิ่งที่ไม่คิดว่าจะพบ คือเนื้อเยื่ออ่อนของไดโนเสาร์
ซากฟอสซิลกระดูกส่วนหนึ่งถูกส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านไดโนเสาร์ชื่อ Mary Schweitzer ที่ North Carolina State University ขณะที่ศึกษาตรวจสอบซากฟอสซิลนั้น Mary Schweitzer กับผู้ช่วยสังเกตเห็นว่ามีร่องรอยส่วนที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อน ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อชนิดที่มีเส้นเลือดอยู่ Jennifer Wittmeyer ผู้ช่วยซึ่งเชี่ยวชาญการตรวจสอบ ทำงานทดสอบซ้ำแล้วซ้ำอีกเพราะไม่เชื่อสายตาตัวเองในสิ่งที่พบ
เนื้อเยื่ออ่อนที่พบในซากฟอสซิล T-Rex ตัวนั้น มีอายุประมาณ 68 ล้านปี นักวิทยาศาสตร์อาจไม่เคยพบเนื้อเยื่ออ่อนในซากฟอสซิลแบบนี้มาก่อน เนื้อเยื่ออ่อนนั้นมักจะสลายหายไปตามกาลเวลา ขณะที่เนื่อเยื่อแข็งอย่างกระดูกจะกลายเป็นหินอย่างที่เรียกว่าฟอสซิล
นักวิจัยที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Harvard วิเคราะห์โปรตีนในเนื้อเยื่ออ่อนนั้นและเปรียบเทียบโมเลกุลของโปรตีนไดโนเสาร์ กับโปรตีนที่มีลักษณะคล้ายๆกันกับที่มาจากสัตว์ปีกและสัตว์เลื้อยคลานสมัยปัจุบัน
Chris Organ นักวิจัยคนสำคัญของงานนี้กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์มีแผนการที่จะทำงานเปรียบเทียบโมเลกุลต่อไปอีก และจะศึกษาโปรตีนของไดโนเสาร์ T-Rex เทียบกับสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ปีกอื่นๆนอกเหนือไปจากไก่
นอกจากนี้ นักวิจัยยังศึกษาสารจากสัตว์ดึกดำบรรพ์ขนาดใหญ่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ชนิดอื่นที่เรียกว่า Mastodon หรือช้างดึกดำบรรพ์ด้วย และพบว่า Mastodon มีโครงเชื้อพันธุ์คล้ายกับช้างปัจจุบัน ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะช้างสมัยนี้ รูปร่างหน้าตาก็ดูคล้าย Mastodon อยู่มาก