คุณสุพัฒน์ อินฟ้าแสง รองผู้อำนวยการและผู้ประสานงาน โครงการแพทย์อเมริกันอาสา ที่เพิ่งเดินทางกลับจากจังหวัดอุบลราชธานี ชี้แจงความเป็นมาของโครงการแพทย์อเมริกันอาสา ซึ่งประกอบไปด้วยแพทย์และพยาบาลชาวอเมริกัน แก่วีโอเอภาคภาษาไทย
คุณสุพัฒน์ อินฟ้าแสง เล่าถึงความเป็นมาของโครงการนี้ว่า เมื่อปี คศ. 2000 มีแพทย์กลุ่มหนึ่งมีชื่อว่า Healing the Children เป็นองค์การแพทย์อาสาสมัคร ซึ่งจะเดินทางไปทั่วโลก เพื่อจะช่วยเหลือผ่าตัดให้ผู้ป่วยในประเทศต่างๆ อย่างอเมริกาใต้ แอฟริกา และกลุ่มแพทย์นี้ได้มาติดต่อสอบถามคุณสุพัฒน์ว่า ทางกลุ่มจะสามารถไปผ่าตัดเมืองไทยได้อย่างไร เขาจึงติดต่อไปหา ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เพื่อให้ท่านช่วยกราบบังคมทูล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ให้ด้วยว่า จะเริ่มผ่าตัดในเมืองไทยได้อย่างไร จากนั้นอีกประมาณ 2 อาทิตย์ให้หลังท่านดร.สุเมธก็โทร.มาบอกว่า สมเด็จพระเทพฯท่านจะทรงช่วยโครงการ ก็คือจะให้ไปผ่าตัดครั้งแรกที่ศูนย์แพทย์สมเด็จพระเทพฯที่จังหวัดนครนายก นี่คือเป็นจุดแรกที่เริ่มขึ้น เพราะว่าทางโครงการอยู่ต่างประเทศ จึงไม่สามารถไปติดต่อในเมืองไทยได้ ต้องอาศัยบุคคลในเมืองไทย ซึ่งเป็นที่ยอมรับในสังคมที่จะช่วยเหลือกิจกรรมนี้ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร ถ้าหากไม่มีใครที่รู้จักในเมืองไทย
คุณสุพัฒน์ อธิบายถึงแพทย์และพยาบาลร่วมโครงการแพทย์อเมริกันอาสานี้ว่า แพทย์พยาบาลที่ต้องการมาร่วมทีม มีศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ กุมารแพทย์ ซึ่งแพทย์ทั้งสามชนิดนี้มีความจำเป็นสำหรับการผ่าตัด ที่ไปทำงานในเมืองไทย
ส่วนใหญ่จะเป็นทางด้านศัลยกรรม ก็คือปากแหว่งเพดานโหว่ ความบกพร่องทางใบหน้า และร่างกายของผู้ป่วย อาสาสมัครที่เข้ามาร่วมทีมนี้จะเป็นบุคคลที่ชอบจะให้อะไรกับสังคม และอยากจะทำอะไรให้เกิดประโยชน์กับมนุษย์ในโลก
คุณสุพัฒน์เล่าต่อว่ามีหมอคนหนึ่งที่มาจากลอสแองเจลิส ชื่อ Malcolm Lesavoy ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ทำงานในโรงพยาบาล และมีออฟฟิศส่วนตัวเป็น private clinic เพื่อจะแต่งใบหน้าทางด้านศัลยกรรม ผู้ที่มาให้เขาตกแต่งใบหน้านี้ มักจะเป็นพวกดาราหนัง ซึ่งปรกติหน้าตาก็ดีอยู่แล้ว แต่เขามีความคิดว่าผู้ที่มีความจำเป็นมากที่สุด คือคนจนที่เกิดมาแล้วหน้าตาไม่สมบูรณ์ พวกนี้มีความจำเป็นมากกว่าดาราหนังที่จะต้องทำให้หน้าตาสวยงามขึ้น
โครงการแพทย์อเมริกันอาสา ได้รับความสำเร็จอย่างมากนะคะ คุณสุพัฒน์บอกว่า โครงการนี้มีความสำเร็จอย่าง อาจจะมีบางกรณีที่ผ่าตัดแล้วมีปัญหา ประมาณสัก 2 เปอร์เซนต์ แต่การผ่าตัดทุกครั้งนั้นจะต้องติดต่อกับแพทย์ท้องถิ่นว่าหลังจากที่ทางเรากลับไปแล้วนั้น จะต้องฝากให้ดูแลคนไข้เหล่านี้ว่า การผ่าตัดที่ทำไป คนไข้มีปัญหาอะไรบ้าง ถ้าเกิดปัญหาซับซ้อน แพทย์ทางเมืองไทยก็จะดำเนินการต่อไป เป็นการทำงานร่วมกันในระหว่างแพทย์ไทยและแพทย์อเมริกัน ซึ่งคิดว่าเป็นการสร้างสัมพันธไมตรี ทางด้านการแพทย์ระหว่างทั้งสองประเทศได้อย่างดี
อีกประการหนึ่งที่มีผลประโยชน์ สำหรับประเทศไทยกับสหรัฐก็คือว่า ทางโครงการได้มีการบรรยายในหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวกับการผ่าตัดจะเป็นเรื่องการวางยาสลบ เทคนิคในห้องผ่าตัด สิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ที่ทางสหรัฐได้คิดค้นขึ้นมา ทำให้เกิดประโยชน์กับแพทย์และพยาบาลไทย ที่เข้ารับฟังเรื่องเหล่านี้ ทำให้ทั้งสองประเทศมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน ส่งเสริมให้มีความสนิทชิดเชื้อกันมากขึ้น
และอีกประการหนึ่ง ทางโครงการก็ได้พยายามส่งแพทย์เข้ามาดูกิจกรรมของทางสหรัฐ ปีนี้มีแพทย์ดมยาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้ามา ดูกิจกรรม ที่ Yale University School of Medicine และจะมีแพทย์จุฬา มาดูงานที่มหาวิทยาลัย Yale
สำหรับในปีหน้า โครงการแพทย์อเมริกันอาสา คาดว่าจะเดินทางกลับไปจังหวัดอุบลราชธานีอีกครั้ง เพราะว่าที่อุบลยังมีคนไข้อีกประมาณ 700 รายที่ต้องการความช่วยเหลือ