เราทุกคนต้องเผชิญกับทางเลือกอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวกับชีวิต หรือเรื่องเล็กๆน้อยๆ ก็ต้องมีการตัดสินใจเลือกไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง
อาจารย์ Roy Baumeister ซึ่งสอนวิชาจิตวิทยาอยู่ที่มหาวิทยาลัย Florida State อยากรู้ว่า ถ้าคนเราต้องตัดสินใจอยู่บ่อยๆ หรือเกือบจะตลอดเวลา จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อความมุ่งมั่นหรือเจตนารมณ์ของคนๆ นั้น
การทดลองที่นักวิชาการผู้นี้จัดทำขึ้น แบ่งอาสาสมัครออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งนั้นจะต้องดำเนินการตัดสินใจเป็นชุดๆ เช่นจะต้องเลือกสีของเสื้อยืดคอกลม จะเอาสีน้ำเงิน หรือสีแดง ให้เลือกเทียนกลิ่นถั่วอัลมอนด์ หรือวานิลลา เป็นต้น อีกกลุ่มหนึ่งนั้น ได้เห็นของอย่างเดียวกัน แต่ไม่ต้องตัดสินใจเลือก
หลังจากนั้น อาสาสมัครทั้งสองกลุ่มเข้าร่วมการทดลองที่ทดสอบการควบคุมตนเอง เช่นให้เอามือจุ่มลงไปในน้ำเย็น ผลปรากฏว่า กลุ่มที่ต้องทำงานตัดสินใจเลือกสิ่งของมาก่อนหน้านั้น จะชักมือออกจากน้ำเย็นเร็วกว่า กลุ่มที่ไม่ต้องใช้ความคิดตัดสินใจเลือกอะไรเลย
นักจิตวิทยาผู้ดำเนินการทดลองนี้ ให้ความเห็นว่า ถ้าคนเราต้องทำงานตัดสินใจมาหลายเรื่องด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี สนุกหรือไม่สนุก พอจะต้องทำในสิ่งที่ไม่สนุกสนานรื่นรมย์ก็จะไม่มีวินัยในตัวเหลือพอที่จะทำงานนั้นให้ลุล่วงไปได้ และว่าการทดลองที่ยืนยันสามัญสำนึกโดยทั่วไปนี้ ช่วยเตือนสติเราได้เวลาที่ต้องตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ
นักจิตวิทยา Roy Baumeister บอกว่า ก่อนจะตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญ ให้พักผ่อนรับประทานอาหารดีๆ สักมื้อ แล้วค่อยตัดสินใจ กล่าวคือ เมื่อเรารู้ตัวว่ามีสติสัมปชัญญะอยู่ครบถ้วน เพราะว่าการตัดสินใจและการมีวินัยอาศัยกำลังความคิดเดียวกัน ถ้าใช้งานความคิดที่ว่านี้เปลืองเกินไป การตัดสินใจหรือการทำงานอื่นๆ ต่อจากนั้น จะทำให้เกิดความผิดพลาดและต้องเสียใจภายหลังได้
ทำให้เป็นห่วงว่า ในการดำรงชีวิตประจำวันของเรานั้น มีการตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา เช่น วันนี้จะใส่ชุดไหนไปทำงาน เช้านี้จะรับประทานอะไรดี เวลาไปซื้อของ ตั้งแต่กระดาษเช็ดหน้า ไปจนถึงกระดาษชำระ จะต้องเลือกว่า จะซื้อกระดาษชั้นเดียวหรือสองชั้น มีครีมอาบกระดาษ หรือไม่มี มีกลิ่นหอมด้วยหรือไม่ เป็นกระดาษรีไซเคิลหรือไม่ เหล่านี้เป็นต้น
จึงไม่น่าสงสัยว่า เมื่อถึงเวลาทำงานแล้ว จะต้องหาทางพักผ่อน ดื่มชาหรือกาแฟกันสักหน่วยก่อน แล้วจึงจะทำงานกันได้