การประชุมผู้บริหารธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศในกรุงวอชิงตัน

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประชุมผู้บริหารธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศในกรุงวอชิงตัน ซึ่งหัวข้อสำคัญในการประชุมคือเรื่องราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาธัญพืช ปัญหานี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อประชากรในประเทศกำลังพัฒนา จนก่อให้เกิดสถานการณ์ความไม่สงบในหลายประเทศ

เวลานี้ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศทั่วโลก ต่างเดินขบวนประท้วงราคาอาหารแพง เมื่อวันเสาร์ที่ผ่า่นมาเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่ไฮติที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายคน

ในขณะเดียวกัน ประเทศผู้ส่งออกข้าวบางประเทศก็ลดปริมาณการส่งออกเพื่อปกป้องตลาดในประเทศ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายโรเบิร์ต โซเอลลิค ผู้อำนวยการใหญ่ธนาคารโลกกล่าวว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ราคาข้าวในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นราว 75% ในขณะที่ราคาข้าวสาลีเพิ่มขึ้นถึง 120% เมื่อปีที่แล้ว

ในความเป็นจริงนั้น ปริมาณการปลูกข้าวและข้าวสาลีทั่วโลกไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด แต่จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นประกอบกับการนำธัญพืชไปผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ทำให้ความต้องการอาหารมีมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆที่ทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น เช่น การเติบโตของเศรษฐกิจจีนและอินเดีย ที่ทำให้ประชากรทั้งสองประเทศมีความเป็นอยู่ดีขึ้น บริโภคนมและเนื้อสัตว์มากขึ้น ธัญพืชจำนวนมากจึงถูกนำไปเป็นอาหารของปศุสัตว์เหล่านั้น รวมทั้งสภาพภูมิอากาศ ในประเทศผู้ผลิตธัญพืชสำคัญต่างๆ เช่นออสเตรเลียที่ประสบภาวะแห้งแล้งยาวนาน ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาอาหารโลกทั้งสิ้น

ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากราคาอาหารเพิ่มขึ้นมากที่สุดคงหนีไม่พ้นบรรดาประเทศยากจนทั้งหลาย อาจารย์คริสโตเฟอร์ แบร์เรต นักเศรษฐศาสตร์การเกษตรจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ในสหรัฐกล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรในประเทศยากจนต้องนำผลิตผลของตนมาประทังชีวิตมากกว่าจะ นำออกขายเสียอีก ในขณะที่อาจารย์เจอรอล เนลสั้น แห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์แนะนำว่า แนวทางแก้ไขปัญหาราคาอาหารแพงคือการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางการ เกษตร หรือการปฏิวัติเขียวอีกครั้ง

ในการประชุมผู้บริหารธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ที่กรุงวอชิงตันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการใหญ่ธนาคารโลกระบุว่า ประเด็นสำคัญที่สุดในการประชุม คือปัญหาผู้หิวโหย ภาวะขาดแคลนอาหาร และนโยบายด้านอาหาร และว่าราคาอาหารทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชากรในประเทศกำลังพัฒนาหลายร้อยล้านคนยิ่งยากจนลงไปอีก และจะเป็นปัญหาหนักสำหรับคนรุ่นต่อๆไป ทางด้านนายโดมินิก เสตร้าซ์-ข่าน ผู้อำนวยการใหญ่ IMF บอกว่าปัญหาที่แท้จริงคือปริมาณอาหารไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรโลก และอาจจะเป็นเช่นนี้ไปอีกหลายปี นายเสตร้าซ์-ข่านยังบอกอีกว่า ประเทศต่างๆต้องพยายามรักษาสมดุลของการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชที่เป็นอาหารกับเชื้อเพลิงชีวภาพที่มาจากแหล่งอื่น ในขณะที่ผู้แทนจากบางประเทศที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ให้ความเห็นว่า การนำอาหารมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงนั้น เป็นการทำร้ายมวลมนุษยชาติ