ธุรกิจการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้

กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงกล้วยไม้พยายามจะมีส่วนแบ่งในตลาดการค้าดอกไม้ของโลกมากขึ้น โดยแต่ละปีตลาดค้าดอกไม้จะมีมูลค่าสูงถึงหลายพันล้านเหรียญสหรัฐทีเดียว

ดังนั้นผู้เพาะเลี้ยงกล้วยไม้ทั้งในลาติน อเมริกา และในเอเชีย ต่างก็พยายามจะมีส่วนแบ่งในตลาดให้มากขึ้น ด้วยการพัฒนาสายพันธุ์กล้วยไม้ให้มีความหลากหลาย เหมาะสมกับความต้องการของตลาดที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับคนรักกล้วยไม้แล้ว ถ้าจะจำกัดพื้นที่ลงไปว่า ปลูกกล้วยไม้แค่ไหนถึงจะเรียกว่ามีมากเกินไปแล้วล่ะก็ คงจะเป็นเรื่องยากสักหน่อยค่ะ ที่โรงเพาะเลี้ยงกล้วยไม้อเมซอนเนีย ในเมืองไมอามี่ รัฐฟลอริด้า มีการปลูกกล้วยไม้นับแสนๆต้นเพื่อจำหน่ายทั่วประเทศสหรัฐฯ และเพื่อการส่งออก โดยเป็นธุรกิจที่เริ่มมาตั้งแต่รุ่นพ่อ และทุกวันนี้คุณแอคเซล คาร์ฮีซ ก็ได้สืบทอดกิจการนี้ต่อมา ที่นี่มีการปลูกกล้วยไม้หายาก และพัฒนาสายพันธ์ให้หลากหลายยิ่งขึ้นด้วย

คุณคาร์ฮีซบอกว่า พวกเขาเชี่ยวชาญการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้พันธ์ดอกใหญ่ ที่มีสีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสีขาว ม่วง หรือ น้ำเงิน แต่ก็ยังมุ่งพัฒนาให้ดอกใหญ่มากขึ้นอีก เพราะยิ่งดอกใหญ่เท่าไร ก็ยิ่งดีสำหรับพวกเขา

เขายังบอกอีกว่า กล้วยไม้พันธ์ที่เขาเชี่ยวชาญที่สุดก็คือ แคทลียา ซึ่งได้สายพันธุ์มาจากเวเน ซูเอล่า ที่เป็นต้นกำเนิดของกล้วยไม้สายพันธุ์นี้ แต่เขายังปลูกกล้วยไม้อีกหลากหลายพันธุ์ที่นำเข้ามาจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และที่อื่นๆ เพื่อนำมาผสม ให้ได้กล้วยไม้พันธุ์ใหม่ที่มีรูปแบบกลีบดอก หรือ สีกลีบ มีความโดดเด่นขึ้นมา

แม้ว่ากว่ากล้วยไม้สักต้นจะงอกจากเมล็ดและเติบโตขึ้นมาได้ ต้องใช้เวลาถึง 7 ปี แต่คุณคาร์ฮีซก็บอกว่า ตอนนี้การลงทุนของครอบครัวเขาก็ได้ผลคุ้มค่าแล้ว

กระทรวงเกษตรสหรัฐแจ้งว่า ตลาดการค้ากล้วยไม้ เติบโตรวดเร็วกว่าต้นไม้กระถางชนิดอื่นๆ โดยมีมูลค่าการค้ากว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี

ความนิยมกล้วยไม้เป็นแรงขับเคลื่อนให้มีงานแสดงกล้วยไม้ตามที่ต่างๆ อย่างเช่นการประชุมกล้วยไม้โลกที่เมืองไมอามี่ นักเล่นกล้วยไม้เป็นงานอดิเรกต่างมุ่งหน้ามาหากล้วยไม้ใหม่ๆ กันอย่างมากมาย แม้ว่าการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้จะยากกว่าการปลูกไม้ดอก หรือต้นไม้กระถางชนิดอื่นๆ เพราะต้องมีการควบคุมอุณหภูมิ แสง และธาตุอาหาร แต่สำหรับคนรักกล้วยไม้แล้ว ก็ยังอยากที่จะลองเสี่ยงอยู่ดี

เมื่อตลาดต้องการกล้วยไม้สีใหม่ๆ และมีรูปแบบที่หลากหลาย จึงเป็นการเปิดโอกาสทองให้ผู้เพาะเลี้ยงกล้วยไม้จากต่างประเทศ อย่างไต้หวัน สิงคโปร์ และอเมริกากลางและใต้เข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดด้วย แต่ปัญหาก็คือ เรื่องการขนส่งกล้วยไม้อันแสน
บอบบางมาที่สหรัฐนี่เอง

คุณลู เฉิง นาง หัวหน้ากลุ่มการค้าดอกไม้ไต้หวัน บอกว่าข้อจำกัดทางการค้า ทำให้ผู้เพาะ เลี้ยงกล้วยไม้ต้องหนักใจ แต่ก็หวังว่ากฎหมายจะเปลี่ยนไปในอนาคต ซึ่งจะทำให้มีการค้ากล้วยไม้ระหว่างประเทศกันมากขึ้น