งานสนับสนุนศิลปินทุพพลภาพในกัมพูชา

ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เพิ่งจะมีการจัดงานสนับสนุนศิลปินทุพพลภาพไปเมื่อไม่นานนี้ เป้าหมายของงานดังกล่าวก็เพื่อพยายามเปลี่ยนทัศนคติของชาวกัมพูชาให้ยอมรับคนพิการหรือคนทุพพลภาพมากขึ้น

ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เพิ่งจะมีการจัดงานสนับสนุนศิลปินทุพพลภาพไปเมื่อไม่นานนี้ เป้าหมายของงานดังกล่าวก็เพื่อพยายามเปลี่ยนทัศนคติของชาวกัมพูชาให้ยอมรับคนพิการหรือคนทุพพลภาพมากขึ้น ด้วยการจัดแสดงความสามารถต่างๆ ที่คนทุพพลภาพเหล่านั้นสามารถทำได้ไม่แพ้หรืออาจจะดีกว่าคนปกติด้วยซ้ำไป

เด็กพิการชาวกัมพูชาหลายร้อยคนเข้าร่วมในขบวนแห่เปิดงานเทศกาล Spotlight ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงพนมเปญ เพื่อสนับสนุนสิทธิของคนทุพพลภาพในกัมพูชา คุณ Hannah Stevens ประธานจัดงานครั้งนี้บอกว่า งานเทศกาล Spotlight นี้พยายามแสดงให้คนทั่วไปเห็นว่า คนพิการก็สามารถมีบทบาทสำคัญในสังคมกัมพูชาเช่นกัน หากได้รับโอกาสในการพิสูจน์ตัวเอง

คุณ Stevens บอกว่า เวลานี้คนพิการชาวกัมพูชายังไม่ได้รับโอกาสหรือความเท่าเทียมทางสังคมเท่าคนปกติ โดยเฉพาะในด้านการศึกษาและการสมัครงาน การจัดงานครั้งนี้จึงเป็นการแสดงความสามารถของคนทุพพลภาพเหล่านั้นให้เป็นที่ประจักษ์ว่า พวกเขาสามารถไปโรงเรียน อ่านเขียนหนังสือ มีส่วนร่วมในงานศิลปะ รวมทั้งอยู่ร่วมในสังคมได้เหมือนคนทั่วไป

ภาวะสงครามและความยากจนที่ครอบคลุมกัมพูชามาหลายสิบปี ทำให้กัมพูชามีจำนวนคนพิการมากที่สุดในโลก ตามรายงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียเมื่อปี ค.ศ.2005 ประเมินว่า 15% ของประชากรกัมพูชาทั้งประเทศ มีลักษณะที่ระบุว่าเป็นคนทุพพลภาพแบบใดแบบหนึ่ง ซึ่งรวมถึงผู้รอดชีวิตจากกับระเบิดราว 4 หมื่นคน และผู้ป่วยโรคต่างๆ เช่นโรคโปลิโออีกประมาณ 5 หมื่นคน และเช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่คนพิการเหล่านั้นมักจะเป็นคนยากจนที่สุดของประเทศ และมักจะประสบปัญหาถูกกีดกันจากสังคม

คุณ Ngin Saroth ผอ.ใหญ่องค์การผู้ทุพพลภาพชาวกัมพูชา ซึ่งเคยป่วยเป็นโรคโปลิโอให้เหตุผลว่าสาเหตุที่คนพิการในกัมพูชาถูกกีดกันมาก ก็เพราะชาวกัมพูชาเชื่อว่าคนที่เกิดมาแล้วต้องพิการในชาตินี้ เกิดจากกรรมไม่ดีที่ทำมาในชาติก่อน จึงต้องก้มหน้ารับกรรมต่อไป คุณ Ngin ยังบอกอีกว่า เด็กพิการชาวกัมพูชา ถูกกีดกันไม่ให้เข้าโรงเรียน ต้องอยู่บ้านทำงานบ้าน ดูแลน้อง เลี้ยงวัว เพราะพ่อแม่เชื่อว่าเรียนไปก็ไม่มีประโยชน์ เนื่องจากจบมาก็ไม่มีบริษัทไหนรับเข้าทำงานอยู่ดี

งานเทศกาล Spotlight นี้มีการแสดงของศิลปินทุพพลภาพที่มีชื่อเสียงมากมายหลายคน เช่น Kong Nay ศิลปินผู้้ยิ่งใหญ่แห่งลุ่มน้ำโขงที่มักจะสามแว่นดำตลอดเวลาจนผู้คนเรียกกันว่า Ray Charles แห่งกัมพูชา

และยังมีคณะกลองคนหูหนวก Koshu Roa Taiko จากญี่ปุ่น ที่ตีกลองด้วยการจับความรู้สึกจากการสั่นสะเทือนของกลอง

งานเทศกาลเพื่อคนทุพพลภาพลักษณะนี้ไม่เคยมีมาก่อนในกัมพูชา ทั้งคนพิการและคนปกติต่างให้ความสนใจอย่างล้นหลาม ความสำเร็จของการจัดงานช่วยนำรอยยิ้มและความสุขมาสู่ชีวิตที่เปราะบางของเด็กๆ ผู้พิการชาวกัมพูชามากมาย บรรดาผู้จัดงานต่างหวังว่างานเทศกาลแบบนี้จะช่วยสร้างทัศนคติใหม่ให้ชาวกัมพูชาและประเทศอื่นๆในแถบนี้ยอมรับความสามารถของคนทุพพลภาพมากขึ้นและเปิดรับคนเหล่านั้นให้ก้าวเข้ามาสู่สังคมเดียวกัน ไร้ซึ่งการกีดกันแบ่งแยกอีกต่อไป