เหตุใดผู้ชายจึงติดเล่นเกม มากกว่าผู้หญิง?

สัญชาติญาณการปกป้องตนเอง ปกป้องครอบครัวหรือแม้แต่ปกป้องอาณาเขตของตนนั้น เป็นสัญชาติญาณขั้นพื้นฐานของสัตว์ทุกชนิด รวมทั้งมนุษย์ด้วย นักวิจัยจากมหา วิทยาลัยแสตนฟอร์ดในสหรัฐทำการศึกษาว่า มนุษย์มีความรู้สึกนึกคิดอย่างไรในขณะที่กำลังปกป้องอาณาเขตของตัวเองด้วยการให้กลุ่มตัวอย่างเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ซึ่งผลกาวิจัยที่ออกมานับว่าสนใจมากทีเดียว

ศาสตราจารย์ Alan Reiss จิตแพทย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดนำกลุ่มตัวอย่างผู้ชาย 11 คน ผู้หญิง 11 คน รวม 22 คน มาทดสอบด้วยการให้เล่นเกมคอมพิวเตอร์ซึ่งสร้างขึ้นเป็นพิเศษ โดยให้ผู้เล่นพยายามปกป้องพื้นที่ของตัวเองบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ แล้วใช้เครื่องวัดคลื่นสมองตรวจสอบว่าขณะที่เล่นเกมอยู่นั้น สมองได้สั่งการแก้ไขปัญหาและวางแผนอย่างไร มีอารมณ์แบบไหน และสนองตอบต่อรางวัลตอบแทนอย่างไร ผลที่ออกมาว่าอย่างไร

ศาสตราจารย์ Reiss รายงานผลการวิจัยว่า ในขณะที่เล่นเกม สมองของผู้ชายและผู้หญิงจะมีการตอบสนองคล้ายๆ กัน ต่างกันเพียงแต่ว่า สมองผู้ชายส่วนที่สนองตอบต่อการให้รางวัลตอบแทน การกระตุ้นเร้า รวมทั้งการแสดงอารมณ์ต่างๆ จะทำงานหนักกว่าและเชื่อมโยงสอดคล้องกันมากกว่าสมองผู้หญิง หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือผู้ชายจะรู้สึกสนุกกับเกมคอมพิวเตอร์มากกว่าผู้หญิงนั่นเอง

จิตแพทย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดผู้นี้บอกว่างานวิจัยครั้งนี้สามารถตอบคำถามได้ว่า ทำไมผู้ชายจึงชอบเล่นเกมมากกว่าผู้หญิง และยังสนับสนุนรายงานที่ว่าผู้ชายที่ติดเกมและปล่อยให้เกมเข้ามารบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันนั้น มีจำนวนมากกว่าผู้หญิงที่ติดเกมถึง 3 เท่า นอกจากนี้ในมุมที่กว้างกว่านั้น ยังอาจช่วยตอบข้อสงสัยที่ว่า ทำไมผู้ชายจึงมีแนวโน้มที่ชอบทำหน้าที่ หรือทำงานที่มีลักษณะแข่งขัน ปกป้องอาณาเขตและมีความก้าวร้าวมากกว่าสตรีอีกด้วย

อย่างน้อยงานวิจัยจากสแตนฟอร์ดชิ้นนี้ก็ทำให้เราทราบแน่ๆ ว่าสมองของผู้ชายนั้นเอื้ออำนวยต่อการติดเกมมากกว่าผู้หญิง คราวนี้ใครที่มีลูกชายแล้วกำลังคิดจะซื้อเกมคอมพิวเตอร์ให้ลูกเล่น ลองคิดทบทวนข้อดีข้อเสียใหม่อีกทีก็ยังไม่สาย