คณะนักวิทยาศาสตร์จากสองประเทศทำการทดลองหาวิธีทำให้เซลล์ผิวหนังของมนุษย์ทำหน้าที่คล้ายเซลล์พื้นฐานของตัวอ่อน ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญทางการแพทย์ในด้านการพัฒนาเซลล์พื้นฐานหรือ stem cells
การวิจัยของคณะนักวิทยาศาสตร์ที่สหรัฐและญี่ปุ่นทั้งสองกลุ่มนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด แต่วิธีการวิจัยและผลที่ออกมานั้นคล้ายๆกัน ทั้งสองคณะพยายามทดลองหาวิธีทำให้เซลล์ผิวหนังของมนุษย์ทำหน้าที่คล้ายเซลล์พื้นฐานของตัวอ่อน ที่เรียกว่า เซลล์ pluripotent ซึ่งก็คือเซลล์พื้นฐานที่สามารถนำไปปลูกในเซลล์ต่างๆส่วนใดก็ได้ในร่างกายคน คุณ James Thompson จากมหาวิทยาลัย Wisconsin หนึ่งในคณะวิจัยจากสหรัฐ กล่าวว่า เซลล์พื้นฐานตัวอ่อนเซลล์แรกนั้นเกิดขึ้นมาราวสิบปีแล้ว ซึ่งก่อให้เกิดข้อถกเถียงมากขึ้นเรื่อยๆจวบจนปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม นักวิจัยผู้นี้เชื่อว่าการพัฒนาเซลล์พื้นฐานจากเซลล์ผิวหนังของมนุษย์แทนที่จะมาจากเซลล์ตัวอ่อนนั้น จะทำให้เสียงโต้แย้งในเรื่องนี้เบาบางลง
คุณ James Thompson เชื่อว่าในอนาคต ห้องทดลองต่างๆจะค่อยๆเลิกพัฒนาเซลล์พื้นฐานจากเซลล์ตัวอ่อนที่จะนำมาใช้ทดแทนเซลล์ในร่างกายที่ตายไป เนื่องจากมีเสียงต่อต้านมากมายว่า การสร้างเซลล์พื้นฐานจากตัวอ่อนนั้น ในที่สุดแล้วตัวอ่อนจะต้องถูกทำลายทิ้ง
และอีกด้านหนึ่ง คณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ก็รายงานว่าสามารถสร้างเซลล์ประสาทและเซลล์หัวใจรวมทั้งเซลล์เนื้อเยื่ออื่นๆจากเซลล์พื้นฐานที่สร้างขึ้นมาจากเซลล์ผิวหนังได้แล้ว
คุณ Shinya Yamanaka หนึ่งในคณะวิจัยชุดนี้บอกว่านอกจากเซลล์ประสาทและเซลล์หัวใจแล้ว นักวิจัยยังสามารถสร้างเซลล์อื่นๆ ยกตัวอย่างเช่นเซลล์กล้ามเนื้อและไขมันได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ที่สหรัฐนั้น คุณ Thompson บอกว่าแม้จะสามารถคิดค้นวิธีสร้างเซลล์พื้นฐานจากเซลล์ผิวหนังได้ แต่ปัญหาท้าทายสำคัญที่ยังมีอยู่ไม่ว่าจะใช้เซลล์พื้นฐานจากเซลล์ผิวหนังหรือเซลล์ตัวอ่อนก็คือ การเข้าใจถึงโรคที่ผู้ป่วยแต่ละคนเป็น และจะสามารถนำเซลล์พื้นฐานนั้นใส่ไปในร่างกายผู้ป่วยเพื่อรักษาให้ถูกโรค และทำให้ร่างกายทำงานอย่างปกติได้อย่างไร
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่ายังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสร้างเซลล์พื้นฐานจากเซลล์ผิวหนังอีกมาก ก่อนที่จะนำมาทดลองจริงกับมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ปัญหาประการหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการสร้างเซลล์จากผิวหนังก็คือ โรคมะเร็ง ที่เกิดจากเปลี่ยนแปลงของยีนพันธุกรรมหรือ DNA ของผู้ป่วยนั่นเอง ถึงกระนั้น นักวิจัยก็ยังเชื่อว่า ในที่สุดแล้ว วิธีสร้างเซลล์พื้นฐานลักษณะนี้จะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยต่อไปในอนาคต
สำหรับรายงานการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์อเมริกันตีพิมพ์อยู่ในนิตยสาร Science ในขณะที่รายงานของคณะนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นตีพิมพ์อยู่ในนิตยสารเซลล์