การประมูลอัญมณีครั้งใหญ่ในพม่า

การประมูลอัญมณีและหยกของพม่าซึ่งเป็นการหารายได้ครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของพม่า จะทำกันที่กรุงย่างกุ้งเร็วๆ ในเดือนนี้ องการวิสาหกิจอัญมณีเมียนม่า ซึ่งเป็นองค์การของรัฐยังไม่ได้เปิดเผยว่าจะมีอัญมนี และหยกมาให้ประมูลกันกี่รายการ

ทางองค์การคาดหมายว่า จะมีผู้ค้าอัญมณีระหว่างประเทศอย่างน้อย 1,000 รายเดินทางไปร่วมการประมูล ซึ่งจะทำกันรวม 12 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 เดือนนี้ นายเตชา ผู้แทนขององค์การวิสาหกิจอัญมณีเมียนม่าคาดหมายว่า ผู้ซื้อส่วนมากจะมาจากทางเอเชีย ส่วนผู้ซื้อหยกมักจะมาจากเมืองจีน และฮ่องกง เขากล่าวด้วยว่า การประมูลขายอัญมณีแบบนี้เมื่อเดือนมีนาคม มีพ่อค้าอัญมณีมาร่วม 3,000 กว่าคน และทำรายได้ให้พม่า 185 ล้านดอลล่าร์

อัญมณีอันได้แก่ทับทิม นิลสีน้ำเงิน และมรกต เป็นสินค้าออกสำคัญอันดับสามของพม่า รองจากก๊าซธรรมชาติและไม้ ทับทิมเป็นอัญมณีที่ขายได้ราคาดีที่สุด เพราะคนชอบสีแดงเลือดนกเข้มของทับทิม ในบรรดาทับทิมที่ส่งมาขายในโลกนั้นเป็นทับทิมพม่าเสีย 90% ผู้ที่วิพากษ์ตำหนิรัฐบาลมหารพม่า ตั้งฉายาทับทิมนั้นว่าทับทิมเลือด โดยหาว่าสีทับทิมเป็นเสมือนสีของเลือด ที่ชาวเหมืองผู้ทำงานตามเหมืองที่ไม่ปลอดภัยต้องหลั่งออกมาเพื่อหาทับทิม และเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่โดนนโยบายเรื่องความโหดเหี้ยมของรัฐบาลทหารพม่าสังหารในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

คุณเด้บบี้ สต็อดดาร์ด แห่งข่ายงาน Alternative Asian Network on Burma ที่ประเทศไทยกล่าวว่า ทับทิมพม่าเป็นทับทิมเลือด เป็นเลือดของคนหนุ่มสาว และว่าเราปฏิเสธไม่ได้ว่า อัญมณีเหล่านี้ ช่วยสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าและก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างแพร่หลาย

ในเดือนกันยายน พระสงฆ์และประชาชนนับหมื่นๆ คน ชุมนุมประท้วงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และโดนทหารพม่าปราบปรามอย่างนองเลือด นานาประเทศประท้วงการกระทำของรัฐบาลทหารพม่า และอภิปรายกันว่าจะใช้วิธีการอย่างไรดี ถึงจะผลักดันผู้นำพม่าไปสู่การปฏิรูปได้

สหรัฐเพิ่มการลงโทษพม่า และสหพันธ์ยุโรปห้ามการนำเข้าโลหะ และอัญมณีจากพม่า ส่วนคุณไบรอัน เลเบอร์ พ่อค้าเพชรชาวอเมริกัน และผู้ตั้งโครงการบรรเทาทุกข์พม่าของพ่อค้าเพชรขึ้น เลิกซื้ออัญมณีพม่าด้วยเหตุผลทางด้านจริยธรรมตั้งแต่ปี 2515 เขากำลังวิ่งเต้นให้รัฐบาลอเมริกันเข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้น ในการห้ามซื้อทับทิมเลือด

คุณไบรอัน เลเบอร์ องค์การพ่อค้าเพชรแห่งอเมริกา และยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอัญมณี กำลังร่วมกันวิ่งเต้นให้รัฐสภาอเมริกัน อุดช่องโหว่ในกฎหมายที่อนุญาตให้นำเข้าอัญมณีพม่า มายังสหรัฐจากประเทศที่สามได้ ประเทศไทยเป็นศูนย์การจาระไนทับทิมพม่าใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง

คุณพรชัย ชื่นชมลดา นายกสมาคมพ่อค้าอัญมณีและเครื่องเพชรพลอยที่ กทม. กล่าวว่า การคว่ำบาตรพม่าโดยสหรัฐจะไม่ได้ผล เพราะความต้องการทับทิมพม่าซึ่งมีอยู่สูงมาก จะทำให้ทับทิมเข้าสู่ตลาดมืด คุณพรชัยคิดว่า การคว่ำบาตรอัญมณีเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น เพราะรัฐบาลทหารพม่าแสดงให้เห็นสิ่งที่เขาเรียกว่า ความยับยั้งชั่งใจระหว่างการปราบปรามผู้ประท้วงเมื่อเดือนกันยายน คุณพรชัยกล่าวด้วยว่า เมื่อปี 2546 ขบวนการรากหญ้าต่อต้านเพชรเลือดได้รับความสนับสนุนของรัฐบาล 52 ประเทศและอุตสาหกรรมเพชร มีการตั้งระบบการออกใบรับรองระหว่างประเทศที่เรียกกันว่า ขบวนการคิมเบอร์ลี่ เพื่อกำหนดมาตรฐานการส่งออกและนำเข้าสำหรับเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน มีผู้คาดหมายกันว่าจะมีผู้ตั้งระบบการออกใบรับรองสำหรับอัญมณีที่มสีในบั้นปลาย ในขณะที่ยังไม่มีระบบดังกล่าว ผู้บริโภคจะต้องตัดสินใจว่า ตนต้องการเครื่องประดับที่ช่วยหาเงิน ไปให้พวกที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นหรือไม่