แพทย์จบใหม่และกำลังฝึกงานอยู่ตามโรงพยาบาล ที่เรียกกันว่า Resident เคยต้องทำงานสัปดาห์ละ 120 ชั่วโมง แต่เวลานี้ ลดลงเหลือ 80 ชั่วโมง
แต่ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้นั้น เรื่องนี้เป็นที่โต้แย้งกันมาก ทั้งนี้ก็เพราะเมื่อหลายปีที่แล้ว เกิดความผิดพลาดในการรักษาพยาบาลตามโรงพยาบาลหลายแห่งในสหรัฐ โดยกล่าวโทษกันว่าสืบเนื่องมาจากการที่แพทย์เหล่านี้เหนื่อยอ่อนนอนไม่พอเพราะต้องทำงานมากชม. ในบางกรณี ทำงานติดต่อกันโดยไม่ได้หลับนอนเลยเป็นเวลา 36 ชม. ก็มี และเมื่อสี่ปีที่แล้ว ได้มีการลดจำนวนชม.ทำงานลงเหลือ 80 ชม. ต่อสัปดาห์
สำหรับเหตุผลดั้งเดิมที่กำหนดให้แพทย์ทำงานนานกว่า 100 ชม. ต่อสัปดาห์นั้น ก็เพื่อให้แพทย์ได้มีเวลาดูแลคนไข้ของตนอย่างต่อเนื่อง และก็ไม่ทราบว่า เมื่อลดชม. ทำงานแล้ว และมีเปลี่ยนแพทย์บ่อยขึ้นนั้น เป็นประโยชน์หรือให้โทษแก่คนไข้อย่างไรบ้าง
ผลการศึกษาทั่วสหรัฐที่เพิ่งเผยแพร่ออกมา แสดงให้เห็นว่า ระบบใหม่นั้นไม่ก่อให้เกิดผลเสีย ที่สำคัญคือจำนวนคนไข้ที่เสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้น นายแพทย์ Jeffrey Silber แห่งโรงพยาบาลเด็กในนครฟิลาเดลเฟีย ผู้ร่วมงานการศึกษาที่ว่านี้กล่าวว่า ผลการศึกษาที่ได้มาแสดงให้เห็นว่า ระบบการรักษาพยาบาลมีความยืดหยุ่น
นายแพทย์ผู้นี้กล่าวว่า ระบบการรักษาพยาบาลสามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงในอัตราการเสียชีวิตของคนไข้
ส่วนแพทย์หญิง Meredith Pugh หัวหน้าแพทย์ฝึกหัดที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเพนซิล-เวเนียบอกว่า เป้าหมายสำคัญคือการลดความเหนื่อยอ่อน และกำหนดทางเลือกที่ปลอดภัยเพื่อจะได้ดูแลคนไข้ได้อย่างดีต่อไป
ทีมงานที่ดำเนินการศึกษาเรื่องนี้ บอกว่า ที่ยังจะต้องศึกษากันต่อไป คือ แพทย์ฝึกหัดจะสามารถทำงานได้นานกี่ชม. โดยที่ยังไม่รู้สึกว่าสมองทำงานช้าลง ในขณะที่จะต้องหาทางลดอัตราความเสี่ยงต่อคนไข้ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแพทย์ที่ให้การรักษาพยาบาลบ่อยครั้งขึ้น
รายงานการศึกษาเรื่องนี้ตีพิมพ์ไว้แล้วใน Journal of American Medical Association