วิกฤตการณ์ทางด้านการเงิน ในเอเชีย

10 ปีหลังจากที่ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชีย ตกอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจซบเซาอย่างหนักหน่วง เนื่องจากวิกฤตการณ์ทางการเงิน ตอนนี้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในเอเชียกลับคึกคักขึ้นมาใหม่ ตลาดฟื้นตัว และการเติบโตทางเศรษฐกิจกลับเข้ารูปเข้ารอย

วิกฤตการณ์ทางการเงินที่เริ่มขึ้นในวันที่ 2 กรกฎาคม ปี 2540 เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย ปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว เพื่อพยายามหยุดยั้งการไหลออกของเงินทุนจำนวนมากมายมหาศาล แต่การทำเช่นนั้นกลับทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซาอย่างหนัก ส่งผลกระทบไปทั่วภาคพื้นเอเชีย ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ประเทศต่างๆ ในเอเชีย ตอ. เฉียงใต้ ซึ่งเรียกกันว่าเสือเศรษฐกิจเป็นที่ชื่นชมของบรรดานักการธนาคาร และนักลงทุนระหว่างประเทศที่ทุ่มเทเงินเข้าสู่ตลาดหุ้น และเงินกู้ของบริษัทต่างๆ แต่ตลาดการเงินของเอเชียมีความอ่อนแอ หนี้สินมักอยู่ในระยะสั้น และบรรดาธนาคารชาติประเทศต่างๆ ผูกอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราไว้กับเงินดอลล่าร์สหรัฐ หลายธนาคารออกเงินกู้ขาดความรัดกุม และธุรกิจขยายตัวรวดเร็วเกินไป เมื่อเงินทุนเริ่มหลั่งไหลออกจากประเทศไทยในปี 2539 เนื่องจากความหวั่นเกรงที่ว่า ผู้กู้ยืมบางรายอาจไม่ชำระหนี้นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้เงินตราสำรองต่างประเทศ เพื่อรักษาค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนลง นักเศรษฐศาสตร์บริษัทหลักทรัพย์ภัทรกล่าวว่า สภาพการณ์สุกงอมสำหรับการถดถอยของภาวะเศรษฐกิจ

นักเศรษฐศาสตร์ผู้นั้นกล่าวว่า เมื่อมองย้อนกลับไป ประเทศไทยขาดเงินในบัญชีกระแสรายวันราว 7-8 เปอร์เซนต์ ซึ่งไม่อาจคงตัวอยู่ได้ เงินตราสำรองต่างประเทศของไทยลดลงจาก 37,000 ล้านดอลล่าร์ในเดือนมกราคม ปี 2540 เหลือไม่ถึง 1,000 ล้านดอลล่าร์ในเดือนมิถุนายนปีนั้น ในที่สุดรัฐบาลต้องปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัว นักลงทุนที่ตื่ตระหนก แข่งกันโอนเงินออกจากตลาดอื่นๆ ในเอเชีย โดยเฉพาะอินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ถูกกระทบกระเทือนมากที่สุด

วู ชานกุ๊ก ผู้อำนวยการที่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจเกาหลีที่กรุงโซลกล่าวว่า เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นมาในปี 2540 ตอนสิ้นปีนั้น เงินตราต่างประเทศสำรองของเกาหลีใต้ลดลงเหลือราว 3,000 ล้านดอลล่าร์ แต่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ในทันทีเนื่องจากการขาดเงินตราต่างประเทศ เศรษฐกิจบางประเทศในเอเชียหดตัวลง 10 เปอร์เซนต์ หรือมากกว่านั้นในปี 2541 บริษัทธุรกิจหลายหมื่นบริษัทในเอเชียต้องปิดกิจการ และประชาชนหลายล้านคนตกงาน

รัฐบาลประเทศต่างๆ พยายามขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทสหรือ IMF ซึ่งออกเงินกู้หลายพันล้านดอลล่าร์ เพื่อทำให้เงินตราสกุลต่างๆ มีเสถียรภาพ แต่ IMF กำหนดให้รัฐบาลต่างๆ ขึ้นอัตราดอกเบี้ย และปรับดุลงบประมาณ

นักเศรษฐศาสตร์หลายคน รวมทั้งในประเทศไทยกล่าวว่า การทำเช่นนั้นยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไป คุณศุ๓วุฒิ สายเชื้อ แห่งบริษัทหลักทรัพย์ภัทรกล่าวว่า นโยบายด้านการเงินเข้มงวดเกินไป ทำให้อัตราดอกเบี้ยขึ้นสูงถึง 20 เปอร์เซนต์หรือกว่านั้น นโยบายนี้มีส่วนอย่างมากที่ทำให้เศรษฐกิจซบเซา ซึ่งน่าจะหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ตาม นโยบายอื่นๆ ช่วยให้เอเชียฟื้นตัว บรรดาธนาคารที่อ่อนแอถูกปิดไป มีการออกกฏหมายใหม่ๆ ด้านการล้มละลาย ภาคธุรกิจต่างๆ ที่ปิดรับการลงทุนต่างประเทศก่อนวิกฤติการณ์เปิดรับการลงทุนของต่างประเทศ

อีฟซาล อาลี นักเศรษฐศาสตร์ใหญ่ที่ธนาคารพัฒนาเอเชียกล่าวว่า เอเชียฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์อย่างรวดเร็ว ภายในเวลา 2 ปี ก็กลับยืนขึ้นมาใหม่ได้ ซึ่งเขาเห็นว่าประเทศต่างๆ ในเอเชียปรับตัวรับสภาพการณ์อย่างรวดเร็ว