คุณประโยชน์จากน้ำนมมารดา

ในหลายประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก มีระบบสาธารณสุขที่ไม่สมบูรณ์และการตลาดในการส่งเสริมการขายนมผง หรือนมกระป๋องที่บรรดาบริษัทนมพยายาม ที่จะใช้วิธีการต่างๆ ในการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ของตน และการควบคุมการปฏิบัติตามระเบียบกฏเกณฑ์ด้านการตลาดไม่ดี มีส่วนทำให้การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมารดาลดลง

ขณะเดียวกันระบบสาธารณสุขที่มีทุนไม่เพียงพอ ทำให้ขาดพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความสามารถในการช่วยเหลือผู้เป็นมารดา เกี่ยวกับการให้นมลูก ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าครอบครัวทั่วไปในประเทศกำลังพัฒนาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลง เพราะคิดกันว่านมขวดดีกว่า

อัตราการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมารดาในเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก อยู่ในระดับเพียง 61 เปอร์เซนต์ ในช่วง 4 เดือนแรก และลดต่ำลงเป็น 35 เปอร์เซนต์สำหรับช่วงอายุ 6 เดือน ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ใน 6 เดือนแรกของเด็กทารกนั้น มีความสำคัญที่สุดสำหรับการมีชีวิตอยู่รอด การเจริญเติบโต และการพัฒนาของเด็ก ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการขาดสารอาหารเป็นสาเหตุสำคัญของการที่เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเสียชีวิต ในการประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจากประเทศต่างๆ ทั้งในส่วนภาคพื้นและทั่วโลกที่กรุงมะนิลาเมื่อเร็วๆ นี้ องค์การชำนาญพิเศษของสหประชาชาติ 2 องค์การคือ องค์การอนามัยโลก และองค์การกองทุนเด็กยูนิเซฟ ร่วมกันขอให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ลงทุนลงแรงมากขึ้นในการคุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมารดา

บรรดาผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมการประชุมในฟิลิปปินส์กล่าวว่า การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมารดามีประโยชน์ต่อสุขภาพเด็กกว่าอาหารอย่างอื่น น้ำนมมารดามีสารแอนตี้ บอดีส์ และเอ็นไซมส์ ที่ส่งเสริมสุขภาพหลายร้อยชนิด สารเหล่านั้นจะกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิต้านทานและทำให้การตอบสนองของเด็กต่อการรับวัคซีนดีขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยป้องกันอาการท้องร่วง ปอดอักเสบ และการทำให้เด็กเสียชีวิตฉับพลัน นอกจากคุณประโยชน์ในระยะสั้นต่อสุขภาพของเด็ก และมารดาแล้ว ยังมีหลักฐานมากขึ้นเรื่อยๆ ที่บ่งชี้ว่า การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมารดาส่งผลช่วยป้องกันโรคเรื้อรังต่างๆ ไปจนถึงในวัยผู้ใหญ่

การศึกษาขององค์การอนามัยโลกเมื่อไม่นานมานี้ แสดงว่า เด็กๆ ที่เลี้ยงด้วยน้ำนมแม่มีระดับความดันโลหิตดี ระดับคลอเรสเตอรอลต่ำในวัยผู้ใหญ่ และทำคะเเนนดีในการทดสอบเชาว์ นอกจากนั้นอัตราการมีน้ำหนักตัวเกินขนาดหรือเป็นโรคอ้วนในวัยผู้ใหญ่ และการเป็นโรคเบาหวานก็อยู่ในระดับต่ำด้วย การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ลดการเป็นโรคต่างๆ ตั้งแต่โรคหืดหอบ โรคภูมิแพ้ ดรคมะเร็งในวัยเด็ก โรคเบาหวาน โรคอ้วน ลำไส้ใหญ่อักเสบ โรคหลอดเลือดหัวใจ ไปจนถึงหูอักเสบ ขณะเดียวกันก็ช่วยส่งเสริมการพัฒนาความทรงจำและการเรียนรู้ เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกยกตัวอย่างกัมพูชาที่มีการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ อย่างแข็งขัน ว่าอัตราการเสียชีวิตของเด็กในกัมพูชาลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมการประชุมที่กรุงมะนิลา อยากให้ประเทศอื่นๆ ในเอเชียทำตามอย่างกัมพูชา ผู้เชี่ยวชาญเสนอแนะการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมารดาอย่างเดียว ในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิตเด็ก อันเป็นกุญแจสำคัญของการมีชีวิตอยู่รอดของเด็ก และสร้างพื้นฐานที่ดีด้านสุขภาพของเด็กในระยะยาว เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่