ยาชนิดใหม่สำหรับโรคกระดูกพรุน

เมื่อก่อนนี้เข้าใจกันว่ามีแต่ผู้หญิง และผู้หญิงสูงอายุเท่านั้นที่เป็นโรคกระดูกพรุนหรือ Osteoporosis แต่ความจริงนั้นผู้ชายและคนอายุน้อย ก็เป็นโรคนี้ได้ มีรายงานข่าวว่า มียาที่คนที่เป็นโรคนี้ใช้เพียงปีละครั้ง ก็สามารถช่วยบรรเทาอาการที่ว่านี้ได้

Osteoporosis หรือโรคกระดูกพรุน เนื่องจากเนื้อกระดูกกร่อนบางลงนั้นมักเรียกกันว่า “โรคเงียบ” เพราะไม่มีอาการ คนที่เป็นก็มักจะไม่รู้ตัวจนกระทั่งเกิดอาการเจ็บหลัง หรือเกิดกระดูกแตกหักขึ้นมา

หญิงวัย 46 ปีผู้หนึ่งพบว่าตัวเองเป็นโรคนี้เมื่อหกล้มแล้วข้อมือหักเพราะใช้มือยันพื้น เธอบอกว่าสภาพที่กระดูกแตกหักนั้นเหมือนกับเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงกว่านั้น เธอต้องเข้ารับการผ่าตัดจัดกระดูกใหม่ ซึ่งแพทย์บอกว่ากระดูกของเธอเหมือนกับกระดูกของคนอายุมากกว่าเธอ 15-20 ปี สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐ ประมาณว่าผู้หญิงจำนวนมากในวัย 30 กว่าถึง 40 กว่าสูญเสียเนื้อกระดูก หรือความหนาแน่นของเนื้อกระดูกกร่อนบางไป ทำให้กระดูกเปราะแตกหักง่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุเล็กน้อย ขณะที่ผู้ที่เป็นโรคนี้ราว 80 เปอร์เซนต์เป็นผู้หญิง และส่วนใหญ่สูงอายุนั้น ผู้ชายก็เป็นโรคนี้เหมือนกัน คนผิวขาวและคนเอเชียเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากที่สุด

ความจริงมียาหลายอย่างสำหรับการบำบัดรักษาโรคนี้ แต่หลายคนเลิกใช้ยาเมื่อใช้ไปได้ราว 1 ปีโดยลืมรับประทานบ้าง หรือไม่ต้องการรับประทานบ้าง

แพทย์หญิง Felicia Cosman แห่งโรงพยาบาล HelenHay กล่าวว่าผู้หญิงในวัย 60-70-80 ปีที่รับประทานยาอื่นๆ หลายขนานสำหรับโรคอื่น มักจะไม่อยากรับประทานยาเพิ่ม แพทย์บอกว่าคนที่เลิกกินยามักจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะกระดูกแตกหัก

ผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักราว 20 เปอร์เซนต์เสียชีวิตภายในเวลา 1 ปีหลังหกล้ม ซึ่งมักจะเป็นเพราะโรคแทรกซ้อนอย่างนิวโมเนีย กรือเลือดจับตัวเป็นลิ่มหลังการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม แพทย์บอกว่ามียาใหม่ที่ให้ผู้ป่วยปีละครั้ง โดยวิธีแบบให้น้ำเกลือ ซึ่งจะใช้เวลาราว 15 นาที ยานี้มีชื่อว่า Zoledromic Acid

แพทย์หญิง Elenor Modee แห่งโรงพยาบาลหญิง Brigham กล่าวว่ายานี้มีคุณภาพดีเหมือนยาอื่นๆ ในตลาดและทำให้สะดวกขึ้นสำหรับผู้ป่วยซึ่งไม่ต้องรับประทานยาทุกวัน ผลการศึกษาพบว่าผู้หญิงที่ใช้ยา Zoledromic แบบนี้ กระดูกแตกหักน้อยกว่าคนที่ใช้ยาหลอก