สภากิจการโลกแห่งนครชิคาโก้ และเวบไซต์ worldpublicopinion.org ร่วมกันสำรวจความคิดเห็นของคน 18 ประเทศและในดินแดนปาเลสไตน์ ผู้จัดให้มีการสำรวจกล่าวว่า ผลของการสำรวจคลุมประชากรโลกร้อยละ 56 ซึ่งรวมจีน อินเดีย สหรัฐ ฝรั่งเศส และฟิลิปปินส์ด้วย
บรรณาธิการของเวบไซต์ worldpublicopinion.org สตีเว่น คาร์ล กล่าวว่าผู้ตอบคำถามส่วนใหญ่ใน 18 ประเทศและในดินแดนปาเลสไตน์ เข้าใจว่าการค้ามีผลกระทบในทางบวกต่อเศรษฐกิจของพวกเขา อีกทั้งยังมีทัศนะในทางเสริมสร้างเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อพวกเขาในฐานะที่เป็นผู้บริโภค และมาตรฐานการครองชีพของพวกเขา
ผลของการสำรวจพบว่า ความสนับสนุนเรื่องโลกาภิวัฒน์มีสูงมากทีเดียว ในบรรดาประเทศที่พึ่งการส่งสินค้าออกไปขายเป็นหลัก อย่างเช่นจีน เกาหลีใต้ และอิสราเอล ผู้ตอบคำถามใน 14 ประเทศโดนป้อนคำถามที่ว่า ผลกระทบของการค้ามีลักษณะที่เป็นคุณต่อเศรษฐกิจในประเทศของพวกเขาหรือไม่ ซึ่งผู้ตอบคำถามส่วนใหญ่ในทั้ง 14 ประเทศกล่าวว่า ผลกระทบที่การค้ามีต่อเศรษฐกิจนั้นเป็นไปในทางดี แต่ในเวลาเดียวกัน ผู้ตอบคำถามส่วนใหญ่รอบโลก แสดงความวิตกเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม และปรารถนาที่จะให้มีมาตรฐานขั้นต่ำเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและแรงงาน
คุณสตีเว่น คาร์ลตั้งข้อสังเกตว่า จะเห็นได้ชัดว่าการที่าผู้นำของโลกส่วนที่กำลังพัฒนากล่าวอยู่บ่อยๆ ว่าพลเมืองของประเทศของตนไม่ต้องการให้มาตรฐานเกี่ยวกับแรงงาน และสิ่งแวดล้อมมาเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงดังกล่าวนั้น ไม่เป็นความจริง
คุณสตีเว่น คาร์ลกล่าวว่า บรรดาผู้นำของประเทศกำลังพัฒนา แถลงมาเป็นเวลาหลายปีแล้วว่าตนคัดค้านเรื่องการนำมาตรฐานด้านแรงงาน และสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงทางการค้า และแสดงตนว่าเป็นคนของประชาชนอย่างชัดเจน คุณสตีเว่น คาร์ลกล่าวด้วยว่า ด้วยเหตุนั้น การค้นพบว่าประชาชนในประเทศเหล่านั้น มีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก
เมื่อดูผลของการสำรวจ ผู้ตอบคำถามในบรรดาประเทศที่เจริญแล้ว สนับสนุนอย่างท่วมท้นที่จะให้พ่วงมาตรฐานด้านแรงงาน เข้ากับข้อตกลงทางการค้า ผู้ที่ตอบคำถามในเมืองจีนร้อยละ 94 ร้อยละ 67 ที่เม็กซิโก ร้อยละ 56 ที่อินเดีย และร้อยละ 55 ที่ฟิลิปปินส์ ก็มีความคิดเห็นแบบนั้นเช่นกัน
คุณปีเตอร์ มอริชี กล่าวว่า พลเมืองจำนวนมากตามประเทศกำลังพัฒนา ตกอยู่ใต้อิทธิพลของชนกลุ่มหัวกระทิที่ทรงอำนาจ และบรรดาผู้ที่ต้องการธำรงรักษาสถานภาพเดิมของพวกเขาไว้ เขากล่าวด้วยว่า การตระหนักว่า บ่อยครั้งทีเดียวพลเมืองตามประเทศอย่างเช่นจีน และอินเดียมีความคิดเห็นในแนวเดียวกันกับชาวอเมริกันในเรื่องการต้องการสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น มาตรฐานด้านแรงงานเหมือนๆ กันเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ และว่าบ่อยครั้งทีเดียว กลยุทธ์ด้านการพัฒนาของรัฐบาลของประเทศเหล่านั้นต่างหาก ที่มาลบล้างความรู้สึกเหล่านั้น เขาอ้างว่าถ้ารัฐต่างๆ ในอเมริกา มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงานเหมือนๆ กันได้ การที่ที่อย่างรัฐแคลิฟอร์เนีย และจีน จะกำหนดมาตรฐานด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่เหมือนๆ กัน ย่อมสามารถทำได้เช่นเดียวกัน