องค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกรีนพีซระบุว่า การที่จีนลักลอบซื้อขายไม้เมอเบาอย่างมากมายนั้น กำลังทำลายพื้นที่ป่าโบราณและทำให้ไม้หายากชนิดนี้สูญพันธ์เร็วขึ้น
ปัจจุบันความต้องการเครื่องเรือนไม้เมอเบาในประเทศตะวันตกและประเทศจีนเพิ่มสูงมาก มีการลักลอบตัดและนำไม้เมอเบาจำนวนมากออกจากป่าฝนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อนำมาใช้ปูพื้นหรือผลิตเป็นเครื่องเรือนขายให้แก่บรรดาเศรษฐีในประเทศที่ร่ำรวย
จีนเป็นประเทศผู้นำเข้าไม้เขตร้อนรายใหญ่ที่สุดในโลก ไม้ที่นำเข้าส่วนใหญ่เป็นไม้เถื่อนซึ่งจะถูกนำมาแปรรูปก่อนที่จะส่งออกไปยังยุโรปและอเมริกา
องค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกรีนพีซเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ศุลกากรจีนทำไม่รู้ไม่ชี้ต่อการลักลอบตัดและนำเข้าไม้เมอเบาซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งที่ใกล้สูญพันธ์ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในประเทศที่ร่ำรวย เนื่องจากไม้ชนิดนี้สามารถนำมาปูพื้นหรือผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่มีความคงทน คุณภาพสูง ไม้เมอเบาเป็นไม้หายาก มักจะพบในเขตป่าฝนในอินโดนีเซียและปาปัวนิวกีนี ซึ่งตามรายงานของธนาคารโลกนั้นเป็นพื้นที่ที่มีการลักลอบตัดไม้จำนวนมาก
รายงานของกลุ่มกรีนพีซระบุว่าแม้รัฐบาลอินโดนีเซียจะห้ามส่งออกท่อนซุงทุกชนิดมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2001 แต่รายงานของศุลกากรจีนเปิดเผยว่า เมื่อปีที่แล้ว จีนนำเข้าไม้จากอินโดนีเซียเป็นปริมาณเกือบ 36,000 ลูกบาศก์เมตร ในจำนวนนี้เป็นไม้เมอเบาถึง 7,700 ลูกบาศก์เมตร รายงานยังบอกอีกว่าเฉพาะการค้าขายไม้เมอเบาอย่างถูกกฎหมายตามปกติก็สามารถทำให้ไม้ชนิดนี้สูญพันธ์ภายในเวลา 35 ปี แต่การลักลอบค้าขายอย่างโจ๋งครึ่มในทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้อันดับ 2 ของโลกนั้น อาจทำให้ระยะเวลาสูญพันธ์ดังกล่าวลดลงอย่างรวดเร็ว
Tamara Stark ผู้เขียนรายงานฉบับนี้เปิดเผยว่า การลักลอบนำเข้าไม้จะใช้เอกสารปลอมเพื่อแสดงว่าไม้ที่จะนำเข้าจีนนั้นมาจากมาเลเซีย ในขณะที่บรรดาพ่อค้าส่วนใหญ่ก็รู้อยู่แล้วว่าไม้นั้นเป็นไม้เถื่อน แต่เนื่องจากราคาดีเพราะมีความต้องการอย่างสูงในตลาดต่างประเทศ พ่อค้าเหล่านั้นจึงยอมเสี่ยงและทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้นะครับ อย่างไรก็ตาม คุณ Tamara Stark บอกว่าเธอยังไม่เคยเห็นว่าพ่อค้าไม้ชาวจีนคนไหนถูกลงโทษสถานหนักจากการกระทำผิดกฎหมายนี้ ผู้เขียนรายงานฉบับนี้ยังบอกอีกว่า การที่พวกลักลอบตัดไม้ต้องการเฉพาะไม้เมอเบาเพื่อส่งให้แก่พ่อค้าจีน ทำให้เกิดการทำลายป่าไม้เขตฝนอย่างกว้างขวาง
คุณ Tamara Stark บอกว่าหลายครั้งที่มีการพบไม้เมอเบาเพียง 1-5 ต้นในพื้นที่ 1 เฮกตาร์หรือประมาณ 6 ไร่ แม้พวกลักลอบตัดไม้ต้องการแต่ไม้เมอเบาแต่ก็ต้องแผ้วถางต้นไม้อื่นรอบๆในป่านั้น เพียงเพื่อให้ได้ไม้มีค่าชนิดนี้เพียงไม่กี่ต้น เธอยกตัวอย่างรายงานการวิจัยในปาปัวนิวกีนีที่ระบุว่า ต้องมีการตัดไม้อื่นๆทิ้งเฉลี่ยถึง 45 ชนิดเพื่อให้ได้ไม้เมอเบาเพียง 1 ต้น อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนไม่มีท่าทีสนใจต่อรายงานที่ว่าจีนเป็นตัวการกระตุ้นให้เกิดการทำลายป่าไม้เขตฝนแต่อย่างใด
องค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกรีนพีซบอกว่าจำเป็นต้องมีการควบคุมที่ดีขึ้นเพื่อป้องกันการลักลอบตัดไม้ ดังเช่นที่เคยปรากฏมาในอดีตเมื่อรัฐบาลอินโดนีเซียตัดสินใจควบคุมการลักลอบส่งออกท่อนซุงเมื่อปี คศ.2005 ปริมาณการนำเข้าไม้ของจีนก็ลดลงอย่างชัดเจนจากจำนวน 890,000 ลูกบาศก์เมตรเมื่อปี 2004 เหลือเพียง 60,000 ลูกบาศก์เมตรในปี 2006