มลภาวะทางอากาศในเอเชีย

ปัญหาที่เกิดตามมา จากการที่มีมลภาวะทางอากาศ ไม่ได้มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่ออนาคตทางการเงินและเศรษฐกิจได้ด้วย

คุณฮิซาชิ โอกาวา ที่ปรึกษาทางด้านสิ่งแวดล้อมขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประจำสำนัก งานของ WHO ที่กรุงมะนิลากล่าวว่า การอยู่ในเมืองที่มีมลภาวะทางอากาศทำให้มีปัญหาทางสุขภาพทั้งที่ร้ายแรงและเรื้อรัง

เจ้าหน้าที่ของ WHO ผู้นี้กล่าวว่า สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ปัญหาเรื่องโรคปอดบวมเป็นปัญหาใหญ่มาก เฉพาะในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกเป็นไปได้ว่า โรคปอดบวมเป็นโรคที่คร่าชีวิตเด็กมากที่สุด และการมีมลภาวะทางอากาศทำให้เด็กเป็นโรคนี้มากขึ้น สำหรับผู้ใหญ่จะเป็นโรคปอดเรื้อรัง มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หลอดลมอักเสบ หอบหืด หรือแม้กระทั่งมะเร็งปอดในบางราย

Asia Airnet องค์กรซึ่งองค์การอนามัยโลกร่วมก่อตั้งขึ้นมากล่าวว่า 30 เปอร์เซนต์ของผู้ที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจมีสาเหตุสืบเนื่องมาจากมลภาวะทางอากาศ องค์การอนามัยโลกประมาณว่า อากาศสกปรกทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5 แสนคนต่อปีในเอเชีย และส่วนใหญ่เป็นคนยากจน

เฉพาะในฮ่องกง กลุ่มสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นประมาณว่าคนในฮ่องกงเสียชีวิตเพราะอากาศสกปรกปีละราวๆ 1,600 คน

นายแพทย์เดวิด ฮุย ของคณะแพทย์ศาสตร์ที่ Chinese University of Hongkong บอกว่ามีการเชื่อมโยงอย่างชัดเจนระหว่างคุณภาพของอากาศที่เลวลงกับปัญหาทางสุขภาพที่มีมากขึ้นทุกที และว่าจากรายงานการศึกษาเรื่องโรคระบาดที่ได้เห็นแสดงให้เห็นว่า สารมลพิษที่เพิ่มขึ้นอย่างเช่นออกไซด์ของไนโตรเจน PM10 และโอโซน ทำให้คนในฮ่องกงไปหาหมอเพื่อรักษาอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจมากขึ้น

ผลกระทบทางเศรษฐกิจก็มีมากตามไปด้วย ตัวเลขที่องค์การอนามัยโลกประมาณว่าเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาพยาบาลอาการของโรคที่สืบเนื่องกับมลภาวะทางอากาศสูงราวๆ 20 ล้านดอลล่าห์ต่อเมือง และอากาศสกปรกยังส่งผลเสียต่อธุรกิจด้วย

แมรอล ลินช์ บริษัทลงทุนระดับโลกเตือนว่าคุณภาพอากาศในฮ่องกงที่เลวลง อาจทำให้นักวิชาชีพไม่อยากพำนักอาศัยอยู่ที่นั่นอีกต่อไป ซึ่งกระทบกระเทือนสมรรถนะในการแข่งขันของฮ่องกงได้

แต่คุณคอร์นนี่ ฮุยเซงก้า หัวหน้าโครงการ Clean Air Initiative for Asian Cities ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอชัย หรือ ADB บอกว่ามีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย ข่าวร้ายก็คือระดับมลพิษของอากาศตามเมืองใหญ่ในเอเชียนั้นสูงอยู่ แต่ข่าวดีก็คือแม้จะมีการใช้ยานพาหนะเพิ่มขึ้น มีคนเพิ่มขึ้น และมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นก็ตาม ระดับมลพิษของอากาศไม่เพิ่มขึ้น และในบางกรณีอาจลดลงเล็กน้อยด้วยซ้ำไป

เจ้าหน้าที่ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียบอกว่า ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะรับบาลในภูมิภาคได้เริ่มให้ความสนใจกับการรักษาคุณภาพของอากาศอย่างจริงจัง มีความก้าวหน้าในการลดสารตะกั่วในน้ำมัน การลดไอเสียจากยานพาหนะ และการใช้ระบบขนส่งมวลชนอย่างเช่นรถลอยฟ้าในกรุงเทพมหานคร

เจ้าหน้าที่โครงการอากาศสะอาดเพื่อเมืองในเอเชียบอกว่า ยังมีงานจะต้องทำกันอีกมาก ซึ่งรวมทั้งการจัดตั้งระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศ และการเพิ่มงบประมาณในเรื่องการควบคุมคุณภาพอากาศ

ประเทศต่างๆ ในเอเชียหารือกันเป็นประจำในการประชุมเชิงปฏิบัติ Better Air Quality การประชุมครั้งต่อไปจะมีขึ้นกลางเดือนนี้ที่อินโดนีเซีย