เจาะลึกปัจจัยสำคัญ “สหรัฐฯ” เลือก “เวียดนาม” เป็นเวทีประชุมสุดยอด “คิม-ทรัมป์” รอบสอง

U.S. President Donald Trump, right, meets with North Korean leader Kim Jong Un on Sentosa Island, in Singapore, June. 12, 2018.

เป็นไปตามคาดการณ์ของบรรดานักวิเคราะห์ด้านการเมืองทั่วโลก เมื่อผู้นำสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศให้เวียดนามเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดนัดที่ 2 กับผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน ในวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์นี้

การที่สหรัฐฯเลือกเวียดนามเป็นเวที “คิม-ทรัมป์ ซัมมิต” นั้น ไม่ได้เป็นเพราะความปลอดภัยและสะดวกสบายสำหรับผู้นำทั้ง 2 เท่านั้น แต่ยังให้ความหมายทางภูมิศาสตร์การเมืองที่เด่นชัด เพราะฝั่งรัฐบาลวอชิงตัน ที่มีเป้าหมายให้เกาหลีเหนือยุติโครงการนิวเคลียร์ให้ได้ ขณะที่เกาหลีเหนือก็เรียกร้องให้สหรัฐฯ ยุติการคุกคามด้านนิวเคลียร์ของกองทัพสหรัฐฯ จากเกาหลีใต้ ในการหารือปลายเดือนนี้ด้วยเช่นกัน

นายเลอ ฮง เฮียบ นักวิจัยจากสถาบัน ISEAS Yusof Ishak ที่สิงคโปร์ บอกว่า การที่สหรัฐฯและเกาหลีเหนือเลือกเวียดนามเป็นเวทีประชุมสุดยอดครั้งที่ 2 เป็นการส่งสัญญาณต่อประชาคมโลกว่าสหรัฐฯและเกาหลีเหนือพร้อมสำหรับการตัดสินใจในการเปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตร และด้วยความร่วมมือนี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกับสังคมโลก เหมือนกับความสัมพันธ์ของสหรัฐฯกับเวียดนามที่เคยบาดหมางกันในอดีต ก็กลับมาร่วมมือกันจนประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจร่วมกันได้

ไม่นานมานี้ เวียดนาม ประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเปก เมื่อปี ค.ศ. 2017 ที่เมืองดานัง ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์เข้าร่วม และถือเป็นเวทีแรกๆ ที่ผู้นำสหรัฐฯ แสดงจุดยืนถึงความสำเร็จในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ

เมอร์เรย์ ไฮเบิร์ท จาก Center for Strategic and International Studies ในกรุงวอชิงตัน บอกว่า การที่ผู้นำสหรัฐฯ เดินทางไปเยือนเวียดนามมาแล้ว สะท้อนว่าทรัมป์มีความคุ้นเคยและมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำเวียดนาม

ส่วนในฝั่งของเกาหลีเหนือ เวียดนามเป็น 1 ในไม่กี่ประเทศในโลกที่เกาหลีเหนือมีสถานทูตตั้งอยู่ที่นั่น และเป็นสถานที่ที่มีระบบความปลอดภัยคล้ายกับสิงคโปร์ บวกกับการเดินทางที่สั้นกว่า ขณะที่ในแง่เศรษฐกิจ เกาหลีเหนืออาจได้เรียนรู้แนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจ การสร้างบทบาทและความร่วมมมือบนเวทีโลก และการใช้ประโยชน์จากความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม

ด้านเจ้าภาพอย่างเวียดนาม ก็หวังให้เวทีซัมมิตครั้งนี้ ยกระดับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจโลกจากตะวันตกอย่างสหรัฐฯ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับจีน ที่มีบทบาทและมีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้กับเวียดนาม

แต่ก่อนที่จะไปถึงเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ทั้งหลายที่กล่าวมา นายเลอ ฮง เฮียบ นักวิจัยจากสถาบัน ISEAS ที่สิงคโปร์ บอกว่า ตอนนี้เวียดนามก็เริ่มเป็นที่รู้จักบนเวทีโลกมากขึ้น เพราะแน่นอนว่าสื่อมวลชนที่เกาะติดการประชุมสุดยอด “คิม-ทรัมป์ ซัมมิต” นัดที่ 2 ในวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์นี้ คงไม่พลาดที่จะนำเสนอหลากหลายแง่มุมของเวียดนามให้เป็นที่ประจักษ์ในสายตาผู้คนทั่วโลก ซึ่งกระตุ้นการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างชาติให้หลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ต้องสงสัย

(นีธิกาญจน์ กำลังวรรณ เรียบเรียงบทวิเคราะห์จาก Associated Press)