นายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี จะเดินทางเยือนสหรัฐฯ สัปดาห์นี้ ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนมองว่าเป็นการเยือนที่อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนด้านความสัมพันธ์ของสองประเทศ โดยมีประเด็นเรื่องความร่วมมือทางทหารและเทคโนโลยีระดับสูงเป็นประเด็นที่ถูกจับตามอง
การเยือนอเมริกาครั้งนี้ถูกมองว่าจะเป็นการปูทางให้อินเดียสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสำคัญของสหรัฐฯ ได้มากขึ้น รวมทั้งกระชับสัมพันธ์ที่สั่นคลอนทั้งจากการเมืองโลก ธุรกิจและเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ สหรัฐฯ และอินเดีย มีความใกล้ชิดกันมากขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การสนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อคานอำนาจของจีนในเอเชียและบนเวทีโลก โดยสหรัฐฯ มองว่าอินเดียคือหุ้นส่วนสำคัญในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ และยังต้องการดึงอินเดียออกจากความเป็นหุ้นส่วนด้านอาวุธกับรัสเซียด้วย
ขณะที่รัฐบาลอินเดียเองก็มีนโยบายเอนเอียงมาทางตะวันตกมากขึ้นในสมัยของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ท่ามกลางความตึงเครียดทางทหารและพรมแดนกับจีน
รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียกล่าวว่า การเยือนครั้งนี้ "เป็นหลักไมล์สำคัญของความสัมพันธ์ ถือเป็นการเยือนที่สำคัญยิ่ง"
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการประกาศข้อตกลงหลายฉบับระหว่างการเยือนของนายกฯ อินเดียครั้งนี้ รวมทั้งสัญญาของบริษัท เจเนรัล อิเลกทริก (General Electric) ที่จะผลิตเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินรบไอพ่นในอินเดีย สัญญาซื้อโดรนเอ็มคิว-9บี ซีการ์เดียน (MQ-9B SeaGuardian) จากบริษัท เจเนรัล อะตอมมิกส์ (General Atomics) จำนวน 31 ลำ มูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์ ตลอดจนการลดอุปสรรคต่าง ๆ สำหรับการซื้อขายด้านการทหารและเทคโนโลยีระดับสูงระหว่างสองประเทศ
นอกจากนี้คาดว่าจะมีการหารือความร่วมมือด้านเซมิคอนดักเตอร์ ไซเบอร์สเปซ เทคโนโลยีอวกาศ การสื่อสารและโครงสร้างพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์ ตลอดจนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ด้วย จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอินเดีย
กำหนดการเยือนของนายกฯ โมดี ครั้งนี้ รวมถึงการรับประทานอาหารค่ำอย่างเป็นทางการร่วมกับประธานาธิบดีไบเดนในฐานะประมุขแห่งรัฐ, ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส และรัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน, ขึ้นกล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมร่วมของรัฐสภาสหรัฐฯ, ประชุมร่วมกับผู้นำธุรกิจอเมริกัน และเป็นประธานในงาน 'วันโยคะสากล' ที่จะจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์กด้วย
ซี ราชา โมฮาน นักวิชาการแห่ง Asia Society Policy Institute ในกรุงนิวเดลี กล่าวว่า "นี่ไม่ใช่การเยือนทั่วไป แต่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ" "นี่ไม่ใช่เรื่องของการควบคุมหรือต่อต้านจีนอีกต่อไป แต่เป็นการสร้างสมดุลอำนาจใหม่ในเอเชีย คือ เอเชียที่มีหลายขั้วอำนาจ (multipolar Asia) ซึ่งไม่ได้ครอบครองด้วยมหาอำนาจเพียงประเทศเดียว"
- ที่มา: รอยเตอร์