เคมัล คิลิกดาโรกลู (Kemal Kilicdaroglu) ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีตุรกีในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. เผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ในวันศุกร์ว่า ตนมีหลักฐานชัดเจนที่บ่งชี้ว่ารัสเซียเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการปล่อยเนื้อหาทางออนไลน์ก่อนเลือกตั้ง ที่ใช้ “ดีพ เฟค” (Deep Fake) เทคโนโลยีขั้นสูงในการบิดเบือนและหลอกลวงผู้รับสารได้อย่างแนบเนียน
คิลิกดาโรกลู ซึ่งมีคะแนนนำประธานาธิบดีตุรกี เรจิบ เทยิบ เออร์โดวาน อยู่เล็กน้อยในผลสำรวจความคิดเห็น ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่าการแทรกแซงของรัสเซียต่อกิจการภายในของตุรกีนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
ผู้นำพรรคร่วมฝ่ายค้านของตุรกีไม่ได้ให้รายละเอียดว่า เนื้อหาออนไลน์ที่อ้างว่ารัสเซียปล่อยออกมาก่อนการเลือกตั้งนั้นคืออะไร แต่ยืนยันว่าหากไม่มีหลักฐานที่แน่นหนา ตนก็คงไม่โพสต์ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ ทวิตเตอร์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
“เรารับไม่ได้ที่ประเทศหนึ่งจะเข้ามาแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้งของตุรกีเพื่อให้พรรคใดพรรคหนึ่งได้เปรียบ ผมอยากให้ทั้งโลกได้รับรู้ ผมจึงตัดสินใจที่จะทวีตเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเปิดเผย” คิลิกดาโรกลูกล่าวกับรอยเตอร์
อย่างไรก็ตาม คิลิกดาโรกลูกล่าวว่าหากตนได้รับเลือกเป็นผู้นำประเทศ รัฐบาลกรุงอังการายังจะรักษาความสัมพันธ์อันดีกับกรุงมอสโกไว้เหมือนเดิม
ในวันพฤหัสบดี มูฮาร์เร็ม อินซ์ (Muharrem Ince) อีกหนึ่งผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคขนาดเล็ก ได้ถอนตัวออกจากการแข่งขัน โดยอ้างว่าเป็นเพราะมีแคมเปญออนไลน์ที่ทำให้ตนเสื่อมเสียชื่อเสียง แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรมากนัก
รัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดย ดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า ผู้ที่ป้อนข้อมูลให้กับคิลิกดาโรกลูนั้นโกหก และรัสเซียให้ความสำคัญกับสายสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศเป็นอย่างมาก
ที่ผ่านมา กรุงมอสโกถูกกล่าวหาว่าเข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้งในประเทศอื่น ๆ รวมถึง การเลือกตั้งของสหรัฐฯ ซึ่งรัสเซียปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
การเลือกตั้งของตุรกีในวันอาทิตย์นี้ ถูกมองว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของประเทศ ที่จะส่งผลอย่างมากต่อจุดยืนของกรุงอังการาในเวทีโลก การสร้างพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ และทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ
ตุรกีซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ (NATO) และยังเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย จนทำให้รัสเซียเป็นผู้ส่งออกพลังงานรายใหญ่ที่สุดของประเทศ แหล่งข่าวสองคนกล่าวกับรอยเตอร์ว่า กรุงอังการาขอเลื่อนชำระค่าก๊าซธรรมชาติมูลค่า 600 ล้านดอลลาร์ให้กับรัสเซียไปจนถึงปีหน้า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่าง ปธน.เออร์โดวาน และ ปธน.รัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน
คิลิกดาโรกลู ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการวัย 74 ปี กล่าวว่าตุรกีซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการค้า เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวที่ใกล้ชิดกับรัสเซีย จะยังมุ่งที่จะรักษาสมดุลด้านความสัมพันธ์นี้กับกรุงมอสโก
“เราไม่ต้องการตัดความสัมพันธ์อันดี แต่เราจะไม่ยอมให้มีการแทรกแซงในกิจการภายในของเรา” เขากล่าวกับรอยเตอร์
คิลิกดาโรกลู ยังให้สัมภาษณ์ว่า เขาจะผลักดันแผนสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนอีกครั้ง หลังจาก ปธน.เออร์โดวาน ล้มเหลวในการสร้างสันติภาพระหว่างทั้งสองประเทศในปีที่ผ่านมา แต่ผู้นำพรรคร่วมฝ่ายค้านตุรกีย้ำชัดว่า การที่ประเทศหนึ่งจะยึดครองอีกประเทศหนึ่งนั้นเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง
ตุรกีมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับทั้งกรุงมอสโกและกรุงเคียฟ และได้พยายามรักษาสมดุลด้านความสัมพันธ์ทางการทูตหลังจากที่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครน รัฐบาลกรุงอังการาคัดค้านที่ประเทศตะวันตกใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย ขณะเดียวกันก็ได้ส่งโดรนติดอาวุธไปช่วยยูเครนอีกด้วย
นอกจากนั้น คิลิกดาโรกลู ยังกล่าวด้วยว่า การที่ราคาหุ้นในตลาดสูงขึ้นยังแสดงให้เห็นด้วยว่า ตลาดเชื่อมั่นว่ากลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้านของตนจะคว้าชัยชนะในวันอาทิตย์นี้
รอยเตอร์รายงานว่า ปธน.เออร์โดวาน ถูกมองว่าเข้ามาควบคุมการบริหารจัดการเศรษฐกิจประเทศ จนทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง และค่าเงินลีร่า (lira) อ่อนตัวลง ในขณะที่ คิลิกดาโรกลูให้คำมั่นว่าจะกลับไปใช้นโยบายทางเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี และให้เป็นไปตามหลักปฏิบัติมากขึ้น
- ที่มา: รอยเตอร์