จับประเด็นเสวนา: นโยบายพรรคการเมืองหนุนคนไทยต่างแดน - รับมือกระแสคนไทยย้ายประเทศ

Thai tradition drummers perform during the Little Thailand Way street co-naming ceremony in the Queens borough of New York.(Sept 24, 2022)

ตัวแทนจากพรรคการเมืองต่าง ๆ เผยถึงนโยบายเพื่อสนับสนุนคนไทยในต่างแดน เช่น การลดขั้นตอนระเบียบการติดต่อราชการ การส่งเสริมการลงทุนโดยตรงนอกประเทศ และการส่งเสริมการทูตวัฒนธรรมเพื่อสนับสนุน soft power ของไทยในระดับสากล โดยข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศเมื่อเดือนมกราคม 2566 ระบุว่า มีคนไทยที่อาศัยในต่างประเทศกว่า 1.3 ล้านคนทั่วโลก

ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และพรรคไทยสร้างไทย เข้าร่วมอภิปรายประเด็นดังกล่าวในวงเสวนาออนไลน์ “รัฐบาลยุคใหม่กับคนไทยในต่างแดน” ที่จัดโดยองค์กร Association for Thai Democracy USA เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐยังให้ความเห็นเพิ่มเติมระหว่างการให้สัมภาษณ์พิเศษกับวีโอเอไทยด้วย

การลดระเบียบขั้นตอนการดำเนินการกับราชการ เป็นหนึ่งในนโยบายที่พรรคการเมืองที่เข้าร่วมเสวนาให้ความสำคัญเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้คนไทยที่ประกอบธุรกิจในต่างประเทศ และต้องดำเนินธุรกรรมรวมถึงติดต่อกับราชการจากต่างประเทศ โดยศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่ายนโยบาย กล่าวว่า หากได้เป็นฝ่ายรัฐบาล ทางพรรคก้าวไกลเตรียมจัดตั้งรัฐมนตรีเพื่อดูแลเรื่อง “กิโยตินกฎหมาย” หรือการทบทวนเพื่อลดขั้นตอนทางระเบียบกฎหมายขนานใหญ่ เพื่อช่วยภาคประชาชนและเอกชนลดต้นทุนในการติดต่อกับราชการ

“เราต้องรับฟังประชาชนที่ทำมาหากินในต่างประเทศว่ามีข้อกังวลอะไร และให้เป็นภาระของทางฝั่งข้าราชการว่าจะชี้แจงอย่างไร…เราต้องใช้เจตจำนงทางการเมืองเพื่อไปงัดข้อกับระบบราชการเพื่อละทิ้งการออกใบต่าง ๆ” ศิริกัญญากล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เมื่อปี 2563 ระบุว่า ภาคธุรกิจและเอกชนมีต้นทุนจากการดำเนินการตามกฎระเบียบราชการอยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาทต่อปี

ทางด้านโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย เห็นด้วยกับการทำกิโยตินกฎหมายเพื่อ “ปลดปล่อยและส่งเสริม” ภาคประชาชนจากกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจ ลดขั้นตอนการขอใบอนุญาต ซึ่งอาจต้องปรับไปถึงความเป็นรัฐราชการและแนวคิดอำนาจนิยมในระบบราชการ และยังช่วยดึงดูดให้คนไทยในต่างประเทศกลับมาประกอบกิจการที่ไทยมากขึ้นด้วย

ขณะที่พลนชชา จักรเพ็ชร กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ทางพรรคมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนโดยตรงนอกประเทศ พร้อมกับการประกันเหตุความเสี่ยงในต่างประเทศ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยกล้าลงทุนในตลาดโลกมากขึ้น รวมทั้งเล็งเจรจากับประเทศต่าง ๆ ในเรื่องสนธิสัญญาภาษีแบบทวิภาคี เพื่อลดเว้นการเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อนสำหรับคนไทยที่อาศัยในต่างประเทศ

“เราจะใช้องค์กรรัฐที่มีอยู่แล้ว เช่น สถานทูต สำนักงานพาณิชย์ในประเทศต่าง ๆ เปิดการเจรจาการค้าอย่างแข็งขันมากขึ้นท่ามกลางความผันผวนของสงครามการค้า เช่น การเริ่มเจรจาเขตการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ รวมทั้งการกลับมาให้ความสำคัญกับแรงงานประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่มีการจัดทำรายงาน และไร้การควบคุม เพื่อเปิดช่องทางการเจรจาของไทย” พลนชชากล่าว

นอกจากนี้ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยยังให้ความสำคัญของการทูตวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริม soft power ของไทย เพื่อเพิ่มความต้องการสินค้าและบริการของไทยในเวทีโลก และช่วยส่งเสริมนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในต่างประเทศ เช่น นโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก เป็นต้น

ทางด้านชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์พิเศษกับวีโอเอไทยว่า พรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในขณะนี้ รวมถึงทุกรัฐบาล ได้ให้การสนับสนุนคนไทยที่อาซัยในต่างประเทศอยู่แล้ว โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน การส่งออกต่างๆ ผ่านทางกระบวนการทางการทูต และการส่งเสริมเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศ

“ที่สำคัญคือเราพยายามสร้างสมดุลการเมืองระหว่างประเทศด้วย เพราะในปัจจุบันมีความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจหลายประเทศ และมี hot spot ทางการเมืองหลายๆ ประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายรัฐบาล โดยเฉพาะประเทศอย่างไทย ก็ต้องร่วมมือกับหลายประเทศ ก็ต้องรักษาสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ดี เพื่อให้ไม่มีปัญหากับประเทศใดประเทศหนึ่ง และสามารถทำธุรกิจ การค้าการลงทุนกับทุกประเทศได้อย่างมั่นคงเข้มแข็ง” ชัยวุฒิกล่าว


พรรคการเมืองวิเคราะห์กระแสคนไทยย้ายประเทศ เล็งแก้โครงสร้างในประเทศ ดึงดูด-รองรับคนมีทักษะให้กลับมาอยู่ไทย

ศิริกัญญาอธิบายว่า ปรากฏการณ์ย้ายประเทศเป็นกระแสอย่างมากในไทยช่วงปี 2563 –64 ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยเผชิญการระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งใหญ่ โดยปรากฏการณ์ในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศอื่น ๆ เช่น ไต้หวันในช่วงทศวรรษที่ 1960-70 ซึ่งเป็นช่วงที่ไต้หวันปกครองด้วยระบอบเผด็จการ ฝ่ายค้านทำงานได้ไม่เต็มที่ มีการใช้กฎอัยการศึกต่อเนื่องนานหลายปี และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเข้าถึงทรัพยากร จนรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาประเด็นดังกล่าว และดึงดูดให้ชาวไต้หวันในต่างแดนกลับมาทำงานที่บ้านเกิดกันมากขึ้น

“เราต้องทำให้ประชาธิปไตยกลับมาให้ได้ นโยบายของพรรคคือการพยายามฟื้นฟูความเป็นประชาธิปไตยที่มันซบเซาในช่วงเก้าปีที่ผ่านมา โดยการเน้นแก้กติกาโดยเฉพาะรัฐธรรมนุญ ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าว “อย่างกรณีของไต้หวัน เขาก็ยอมรับว่าเรื่องของประชาธิปไตย ทำให้ประชาชนไต้หวันไม่อยากอยู่ในประเทศ ณ ขณะนั้น”

Pro-democracy demonstrators flash a three-finger salute while sitting on the ground during a Thai anti-government mass protest, on the 47th anniversary of the 1973 student uprising, in Bangkok, Thailand October 14, 2020. REUTERS/Soe Zeya Tun

ทางด้านพลนชชาจากพรรคเพื่อไทย เห็นด้วยเช่นกันต่อปัญหาประชาธิปไตยในไทย โดยเขากล่าวว่า การที่ไทยผ่านการรัฐประหารหลายครั้ง ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้ไทยขาดเสถียรภาพในการดำเนินนโยบาย และส่งผลต่อทั้งด้านเศรษฐกิจที่ทำให้มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูง และในแง่ของสังคมที่ทำให้ไทยขาดการใช้อำนาจอย่างมีภาวะวิสัย

พลนชชายังระบุว่า การที่ประเทศไทยขาดผลิตภาพทางแรงงาน (labor productivity) ได้ส่งผลต่อภาวะ “สมองไหล” หรือการที่แรงงานทักษะสูงอพยพและย้ายไปตั้งรกรากเพื่อทำงานในต่างประเทศ และพรรคเพื่อไทยมีแนวทางแก้ปัญหาด้วยการทั้งเพิ่มทักษะแรงงานในประเทศ นำแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทยผ่านการออกวีซ่าสำหรับแรงงานที่มีทักษะหรือการศึกษาสูง รวมทั้งใช้นโยบายเขตเศรษฐกิจใหม่เพื่อดึงดูดกลุ่ม digital nomad ด้วย

ขณะที่โภคินจากพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่รัฐบาลที่ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายไหนควรให้ความสำคัญคือ การเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อย ลดการผูกขาดจากนายทุน เช่น การส่งเสริมกองทุนให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อดึงดูดผู้ประกอบการรายย่อยให้ลงทุนภายในประเทศมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ชัยวุฒิจากพรรคพลังประชารัฐกลับเห็นว่า การโยกย้ายถิ่นฐานของคนไทยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดอยู่แล้ว และเห็นว่าเป็นประเด็นที่ “กลุ่มการเมืองหรือมีขบวนการพยายามเคลื่อนไหวเพื่อดิสเครดิตรัฐบาลมากกว่า เพื่อให้ประเทศไทยดูไม่ดี”

“ข้อเท็จจริงมันไม่ได้แย่ขนาดนั้น…เห็นชาวต่างชาติ นักท่องเที่ยวก็อยากมาเมืองไทย มาอยู่ใช้ชีวิตท่องเที่ยว เพราะเมืองไทยก็สงบสุข สวยงาม สะดวกสบาย ค่าครองชีพก็ไม่ได้สูงและไม่ได้มีปัญหา เรื่องความขัดแย้ง เรื่องเชื้อชาติ เรื่องความปลอดภัยเราก็มีสูงมาก ผมว่าในมุมมองผมคนมาอยู่เมืองไทยเยอะมาก ชาวต่างชาติทีไทยมีความสุขมากกับการใช้ชีวิตและมาท่องเที่ยวที่ไทย” ตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐกล่าว

เล็งเพิ่มความยืดหยุ่นเงื่อนไขรับทุนลดระบบอาวุโส เพิ่มโอกาสให้เด็กทุนไทยที่เรียนในต่างแดน

นักเรียนทุนถือเป็นกลุ่มคนไทยในต่างประเทศอีกกลุ่มหนึ่ง โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชพลเรือน (ก.พ.) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 ระบุว่า มีนักเรียนทุนและข้าราชการในความดูแลของ ก.พ. ที่กำลังศึกษาและอบรมในประเทศต่าง ๆ 3,947 คน โดยมีจำนวนมากที่สุดที่อังกฤษและสหรัฐฯ โดยอยู่ที่ 1,452 คน และ 1,378 คน ตามลำดับ

ศิริกัญญา รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวว่า การปรับระบบในองค์กรที่นักเรียนทุนเหล่านี้ต้องกลับมาทำงานใช้ทุน ให้เป็นการประเมินผลงานตามความสามารถให้มากขึ้น มากกว่าการเป็นไปตามระบบอาวุโสหรือการใช้เส้นสาย จะทำให้นักเรียนทุนเหล่านี้ได้ใช้ศักยภาพเพื่อการติบโตในหน้าที่การเงินมากขึ้น และจะช่วยแก้ปัญหาหนีทุน-โดดทุน ได้

ทางด้านพลนทชาจากพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า นักเรียนทุนถือเป็นทรัพยารบุคคลที่มีค่า และควรมีการปรับเงื่อนไขของทุนให้มีความยืดหยุ่นและตอบโจทย์ต่อความสามารถหลังจบการศึกษามากขึ้น เช่น ปรับลดระยะเวลาในการใช้ทุน เพิ่มโอกาสให้นักเรียนทุนเลือกสายงานที่ต้องการได้มากขึ้นหลังเรียนจบ หรืออนุญาตให้นักเรียนทุนมีเส้นทางอาชีพในต่างประเทศ และสามารถทำประโยชน์ให้กับไทยได้แม้จะไม่ได้กลับมาทำงานในประเทศก็ตาม เป็นต้น