กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ (International Monetary Fund) กล่าวในวันอาทิตย์ว่า ปี 2023 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจส่วนใหญ่ของโลกจะประสบกับภาวะที่หนักกว่าเดิม เพราะแรงผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่าง สหรัฐฯ กลุ่มประเทศยุโรป และจีน ต่างต้องประสบกับสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง ตามการรายงานของรอยเตอร์
คริสตาลินา กอร์เกียวา (Kristalina Georgieva) กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ กล่าวในรายงาน Face the Nation ทางช่อง CBS ของสหรัฐฯ ว่า ปีใหม่นี้ “จะหนักกว่าปีเก่าที่เราเพิ่งบอกลามา” และยังเสริมว่า “นั่นเป็นเพราะว่าเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกทั้ง 3 แห่ง คือ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน กำลังชะลอตัวลงพร้อม ๆ กัน”
ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ไอเอ็มเอฟปรับลดการคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกประจำปี 2023 โดยมองว่ายังมีผลกระทบจากสงครามในยูเครน แรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ และนโยบายขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ใช้เพื่อพยายามดึงเพดานภาวะเงินเฟ้อให้ลดลง
เมื่อเร็ว ๆ นี้ จีนได้ยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ และเปิดประเทศอย่างค่อนข้างวุ่นวาย ในขณะที่ประชาชนและผู้บริโภคยังคงใช้ความระมัดระวัง เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้น ในวันเสาร์ ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ได้กล่าวต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก หลังจากที่มีการยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ โดยในการปราศรัยเนื่องในวันปีใหม่ ผู้นำจีนได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายสามัคคีกัน ในช่วงเวลาที่จีนกำลังเข้าสู่ “เฟสใหม่”
กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟกล่าวว่า “นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2022 น่าจะอยู่ในระดับเดียวกัน หรือต่ำกว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก”
กอร์เกียวาซึ่งเพิ่งเดินทางไปจีน ยังกล่าวด้วยว่า ยอดผู้ติดเชื้อที่คาดว่าจะพุ่งสูงขึ้นในจีน น่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจีนในปีนี้ และทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลกซบเซาลงไปด้วย
ในเดือนตุลาที่ผ่านมา ไอเอ็มเอฟคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในปีที่ผ่านมาจะอยู่ที่ 3.2% และในปี 2023 คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตในอัตรา 4.4% อย่างไรก็ตาม การให้สัมภาษณ์ล่าสุดของกอร์เกียวาทำให้มีการตีความว่า ไอเอ็มเอฟน่าจะปรับการคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนและของโลกอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้
ขณะเดียวกัน กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟกล่าวว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ เพราะมีความทนทานกว่า และอาจเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ เพราะตลาดแรงงานนั้นยังแข็งแรง
อย่างไรก็ตาม ตลาดแรงงานที่แข็งแรงนั้นอาจจะเป็นอุปสรรคต่อความพยายามของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการลดอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นไปสูงที่สุดในรอบ 40 ปี ในปี 2022 ซึ่งหมายความว่าเฟดอาจจะต้องคุมอัตราดอกเบี้ยให้รัดกุมนานขึ้น ถึงแม้จะดูเหมือนว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะผ่านจุดที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว แต่ยังคงสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ตั้งไว้ที่ 2% อยู่ถึงเกือบสามเท่า
ในปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ใช้นโยบายดอกเบี้ยที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่ช่วงต้นคริสตทศวรรษ 1980 โดยได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 0% ในเดือนมีนาคม เป็น 4.25% ถึง 4.50% ในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าในปี 2023 ดอกเบี้ยจะขึ้นไปแตะ 5% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดตั้งแต่ปี 2007