ชวดมง! ‘มารายห์ แครีย์’ แพ้คดีเครื่องหมายการค้า ‘ราชินีแห่งคริสต์มาส’

แม้ว่าบทเพลงของศิลปินหญิงชื่อดัง มารายห์ แครีย์ จะขับกล่อมมวลมหาประชาชนในเทศกาลแห่งความสุขส่งท้ายปี จนกลายเป็นเพลงชาติแห่งคริสต์มาสไปเนือง ๆ แล้ว แต่มารายห์ แครีย์ หาใช่ “ราชินีแห่งคริสต์มาส” ไม่แม้แต่กระทั่งจะครองมงกุฏ “เจ้าหญิงแห่งคริสต์มาส” ได้ ตามคำตัดสินของคณะกรรมการด้านเครื่องหมายการค้าของสหรัฐฯ

FILE PHOTO: Mariah Carey performs during New Year's eve celebrations in Times Square in New York City, New York, U.S., December 31, 2017. REUTERS/Carlo Allegri/File Photo - RC1A5C9CD9C0

สื่อซีบีเอสและเดอะวอชิงตันโพสต์ รายงานในสัปดาห์นี้ว่า แครีย์ เจ้าของบทเพลงอมตะแห่งเทศกาลคริสต์มาสที่ต้องฟังวนไปทุกปีอย่าง All I Want for Christmas is You ที่โด่งดังมาตั้งแต่ปี 1994 จนปัจจุบัน ได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในชื่อ ‘Queen of Christmas’ หรือ ราชินีแห่งคริสต์มาส

ทว่า คำขอดังกล่าวได้ถูกปัดตกไปในวันอังคารโดยคณะกรรมการอุทธรณ์เครื่องหมายการค้าของสหรัฐฯ อ้างอิงจากข่าวประชาสัมพันธ์ของศิลปินเพลงคริสต์มาส เอลิซาเบธ ชาน (Elizabeth Chan) ศิลปินหญิงวัย 42 ปี ที่เรียกตนเองว่าเป็น “ศิลปินที่บันทึกเสียงแนวเพลงคริสต์มาสเพียงคนเดียวของโลก” และเป็นผู้ที่ได้รับสมญานามจาก The New Yorker เมื่อปี 2018 ว่า “ราชินีแห่งคริสต์มาส” เป็นผู้คัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของมารายห์ แครีย์ในครั้งนี้

Mariah Carey

สำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าแห่งสหรัฐฯ ไม่เพียงแต่ปัดตกคำร้องของมารายห์ แครีย์ ที่จะขอใช้เครื่องหมายการค้า “ราชินีแห่งคริสต์มาส” แต่เพียงผู้เดียว แต่ยังปฏิเสธคำขอของแครีย์ ที่จะใช้เครื่องหมายการค้า “เจ้าหญิงคริสต์มาส” และ “QOC” ซึ่งเป็นอักษรย่อของราชินีแห่งคริสต์มาสอีกด้วย

ในการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของมารายห์ แครีย์ ครั้งนี้ เธอพยายามจะใช้ “ราชินีแห่งคริสต์มาส” กับผลิตภัณฑ์มากมาย รวมทั้งโลชั่นทาผิว น้ำหอม เพลง เสื้อผ้าคนและสัตว์ แว่นตา หน้ากากอนามัย รวมทั้งนมรสต่าง ๆ

ตำนานราชาและราชินีแห่งคริสต์มาส

ก่อนที่เพลง All I Want for Christmas is You ของแครีย์ จะกลายเป็นเพลงที่ต้องเปิดช่วงคริสต์มาสทุกปี มีราชาและราชินีแห่งคริสต์มาสถือกำเนิดขึ้นมากมายมาก่อนหน้านั้น อาทิ เพลงคลาสสิคอย่าง Rockin’ Around the Christmas Tree ของศิลปินเบรนดา ลี เมื่อปี 1958 ซึ่งได้รับมงกุฏราชินีแห่งคริสต์มาสจากบทเพลงนี้ และในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ดาร์ลีน เลิฟ ได้รับการขนานนามว่าราชินีแห่งคริสต์มาสจากบทเพลง Christmas (Baby Please Come Home) และในปี 2022 นี้ มีการคาดการณ์ว่า อลิเชีย คีส์ ศิลปินอาร์แอนด์บี จะรับมงกุฏราชินีแห่งคริสต์มาสจากอัลบัม Santa Baby ส่วนฝั่งราชาแห่งคริสต์มาสก็มีทั้งแนท คิง โคล, แฟรงค์ ซิเนตร้า, เอลวิส เพรสลีย์ และล่าสุดคือ ไมเคิล บูเบล่

Music - Alicia Keys

ในแถลงการณ์ของชาน ศิลปินหญิงที่ร้องเพลงคริสต์มาสมายาวนาน ระบุว่า “คริสต์มาสคือเทศกาลแห่งการให้ ไม่ใช่เทศการแห่งการกอบโกย และมันเป็นเรื่องที่ผิดที่บุคคลหนึ่งจะพยายามเป็นเจ้าของหรือผูกขาดชื่อเล่นราชินีแห่งคริสต์มาสเพื่อจุดประสงค์เชิงวัตถุนิยมเช่นนี้” และว่า “ในฐานะศิลปินอิสระและนักธุรกิจรายย่อย ผลงานตลอดชีวิตของดิฉันคือการดึงให้ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกันในช่วงเทศกาลแห่งความสุข นั่นคือเหตุผลที่ดิฉันได้รับการขนานนามว่าราชินีแห่งคริสต์มาส ดิฉันครองตำแหน่งนี้เป็นเหมือนป้ายประกาศเกียรติคุณและด้วยความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่านี่เป็น และควรที่จะเป็นสิ่งที่มอบให้ผู้อื่นได้ในอนาคต”

ทีมกฏหมายของชาน ระบุด้วยว่า ความพยายามยื่นขอเครื่องหมายการค้าของแครีย์นั้นเป็นกรณีการกลั่นแกล้งทางการค้าสุดคลาสสิคเลยทีเดียว และชานย้ำว่า “นี่ไม่ใช่แค่การปกป้องตัวดิฉันเอง แต่ยังเป็นการปกป้องราชินีแห่งคริสต์มาสคนต่อไปในอนาคตด้วย” เพราะหากแครีย์สามารถขอเครื่องหมายการค้านี้ได้ ทีมกฏหมายของศิลปินหญิงชื่อดังอาจเดินหน้าฟ้องทุกคนที่ใช้ชื่อดังกล่าวขายสินค้าและบริการต่าง ๆ รวมทั้งยังสามารถเก็บค่าลิขสิทธิ์จากพวกเขาได้อีก

2019 Billboard Music Awards - Show

ทั้งนี้ ทางทีมทนายของมารายห์ แครีย์ ไม่ได้ให้ความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวกับทั้งซีบีเอสและเดอะวอชิงตันโพสต์ในช่วงเวลาที่รายงานข่าวนี้

  • ที่มา: ซีบีเอสและเดอะวอชิงตันโพสต์