หลากหลายการวิจัยมุ่งเป้ารักษาอาการโควิดระยะยาว

HEALTH-CORONAVIRUS/LONGCOVID-TREATMENT

อาการโควิดระยะยาว หรือ Long COVID ได้ส่งผลกระทบกับผู้คนทั่วโลก ในระหว่างที่ทีมวิจัยนานาประเทศต่างค้นหาแนวทางการรักษาภาวะอาการดังกล่าวอย่างไม่ลดละ

ลอเรน นิโคลส์ (Lauren Nichols) เจ้าหน้าที่กระทรวงคมนาคมของสหรัฐฯ ในบอสตันวัย 34 ปี มีปัญหาสุขภาพตั้งแต่ติดเชื้อโควิด-19 ในฤดูใบไม้ผลิปีค.ศ. 2020 โดยเธอมีปัญหาในเรื่องการคิดและการใช้สมาธิ นอกจากนี้ยังมีอาการเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า มีอาการชัก ปวดหัวและปวดเนื้อตัวอีกด้วย

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แพทย์ของนิโคลส์แนะนำให้เธอใช้ยานาลเทรกโซน (naltrexone) ซึ่งเป็นยาที่มักใช้ในปริมาณเล็กน้อยเพื่อรักษาอาการติดสุราและสารโอปิออยด์ และผลที่ได้ก็คือ เธอสามารถคิดอ่านได้ดีขึ้น หลังจากเผชิญกับภาวะสมองล้า หรือ Brain Fog ที่ทำให้เธอต้องใช้ชีวิตอยู่ในก้อนเมฆหนาทึบมานานกว่าสองปี

นักวิจัยกำลังศึกษาถึงวิธีการรักษาผลกระทบของภาวะการติดเชื้อโควิดในระยะยาว หรือที่เรียกว่า Long COVID ทีมวิจัยรู้สึกตื่นเต้นที่ได้ศึกษาเพิ่มเติมว่ายานาลเทรกโซนสามารถช่วยผู้คนนับล้านที่ประสบปัญหาสุขภาพเป็นเวลานานหลายเดือนหลังจากการติดเชื้อโคโรนาไวรัสได้หรือไม่

FILE - FILE - Nancy Rose, who contracted COVID-19 in 2021 and continues to exhibit long-haul symptoms, pauses while organizing her desk space, Jan. 25, 2022, in Port Jefferson, N.Y. Rose, 67, reported bouts of fatigue, brain fog and memory loss.

รอยเตอร์ศึกษาข้อมูลจาก Clinicaltrials.gov และได้พูดคุยกับนักวิจัยด้านสุขภาพ 12 คนเกี่ยวกับอาการของโควิดระยะยาว และพบว่ามีการศึกษาพิเศษอย่างน้อยสี่ครั้งซึ่งเป็นการทดลองกับมนุษย์ โดยวางแผนที่จะทดสอบยานาลเทรกโซนในผู้ป่วยหลายร้อยรายที่มีอาการโควิดระยะยาว

นอกจากนี้แล้วยานาลเทรกโซน ยังเป็นหนึ่งในการรักษาเพียงไม่กี่วิธีที่จะได้รับการทดสอบในโครงการ RECOVER Initiative ที่มีมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ บรรดาที่ปรึกษาของความพยายามนี้กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของโครงการก็คือการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสาเหตุของโควิดระยะยาวและเพื่อค้นหาวิธีการรักษา

อย่างไรก็ตาม การใช้ยานาลเทรกโซนในปริมาณต่ำ (LDN) อาจช่วยแก้ปัญหาบางอย่างที่ทำให้เกิดอาการโควิดระยะยาวได้ ซึ่งไม่เหมือนกับการรักษาที่มุ่งเป้าไปที่อาการที่เกิดจากการที่อวัยวะต่าง ๆ เช่นปอด ได้รับความเสียหายจากการติดเชื้อโควิด-19

นายแพทย์จาร์เรด ยังเกอร์ (Dr. Jarred Younger) จาก Neuro-inflammation, Pain and Fatigue Laboratory จากมหาวิทยาลัย University of Alabama ที่เบอร์มิงแฮมกล่าวว่า ยานาลเทรกโซน (Naltrexone) มีคุณสมบัติในการต้านอาการอักเสบ และถูกใช้ในปริมาณต่ำเพื่อรักษาอาการต่าง ๆ เช่นโรคไฟโบรมัยอัลเจีย (fibromyalgia) หรือภาวะปวดเรื้อรังตามกล้ามเนื้อ โรคโครห์น (Crohn) หรือกลุ่มโรคลำไส้อักเสบ และเส้นโลหิตตีบตัน มาเป็นเวลาหลายปี

ทั้งนี้ ยานาลเทรกโซนในปริมาณ 50 มิลลิกรัม หรือ 10 เท่าของยาปริมาณต่ำ ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในการรักษาผู้ติดสารโอปิออยด์และแอลกอฮอล์ ผู้ผลิตยาหลายรายขายยาชนิดเม็ดขนาด 50 มิลลิกรัม แต่สำหรับยานาลเทรกโซนปริมาณต่ำจะต้องซื้อในร้านขายยาพิเศษเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ยานี้ไม่น่าจะช่วยผู้ป่วยโควิดระยะยาวทุกรายได้ เนื่องจากภาวะนี้มีอาการต่าง ๆ ประมาณ 200 อาการ ซึ่งรวมถึงอาการเจ็บปวดและปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ปัญหาการนอนหลับ ตลอดจนปัญหาในการคิดอ่านด้วย

FILE PHOTO: A patient suffering from Long COVID is examined in the post-coronavirus disease (COVID-19) clinic of Ichilov Hospital in Tel Aviv

นายแพทย์แจ็ค แลมเบิร์ท (Dr. Jack Lambert) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อที่มหาวิทยาลัย University College Dublin School of Medicine แนะนำแพทย์คนอื่น ๆ ให้ใช้ LDN ในการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพต่าง ๆ หลังการติดเชื้อโควิด

ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในเดือนกรกฎาคม ระบุว่า นายแพทย์แลมเบิร์ทได้ทำการศึกษาโดยใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีอาการโควิดระยะยาว 38 รายซึ่งให้ผลที่ดีมาก โดยผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดน้อยลง มีสมาธิ และนอนหลับได้ดีขึ้น และการฟื้นตัวโดยรวมจากการติดเชื้อโควิด-19 หลังจากสองเดือนก็ดีขึ้นอีกด้วย

นายแพทย์แลมเบิร์ทกำลังวางแผนทำการศึกษาขนาดใหญ่เพื่อยืนยันผลลัพธ์เหล่านั้น เขากล่าวว่า LDN อาจช่วยซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดจากโรคนี้แทนที่จะซ่อนอาการต่าง ๆ เอาไว้

ทั้งนี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์ยังคงทำการศึกษาเพื่อหาคำอธิบายว่า LDN อาจช่วยผู้ป่วยที่มีอาการโควิดระยะยาวได้อย่างไร

รายงานระบุว่าเจ้าหน้าที่ของโครงการ RECOVER กำลังพิจารณาการวิธีรักษาอื่น ๆ ที่เป็นไปได้สำหรับอาการโควิดระยะยาว ซึ่งรวมถึงการใช้ยาต้านไวรัส เช่นแพกซ์โลวิด (Paxlovid) ของไฟเซอร์ ซึ่งเป็นยาที่ป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือด การใช้สเตียรอยด์ และการใช้อาหารเสริม

  • ที่มา: รอยเตอร์