ทวิตเตอร์ ระบุในวันอังคารว่า จะเก็บค่าบริการ 8 ดอลลาร์ต่อเดือน สำหรับบริการ Blue Service ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับการยืนยันตัวตนของบัญชีทวิตเตอร์ ตามการเปิดเผยของอิลอน มัสก์ ซึ่งเป็นแผนการเพิ่มจำนวนผู้ใช้และทำให้สื่อสังคมออนไลน์นี้ลดการพึ่งพารายได้จากการโฆษณา ตามรายงานของรอยเตอร์
มัสก์ ระบุในทวิตเตอร์ในวันอังคารว่า “ระบบชนชั้นในทวิตเตอร์ที่มีบัญชีแบบทางการและไม่ทางการนั้นเป็นเรื่องเหลวไหลทั้งเพ คืนพลังให้ประชาชน! ด้วย Blue ในราคา 8 ดอลลาร์ต่อเดือน” และยังทวีตด้วยว่าราคาดังกล่าวจะปรับเปลี่ยนตาม “อำนาจซื้อของประชาชนในแต่ละประเทศ”
ทั้งนี้ เครื่องหมายถูกสีฟ้า ที่อยู่ด้านข้างชื่อบัญชีในสื่อสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์ สื่อถึงการยืนยันจากทางทวิตเตอร์ว่าบัญชีดังกล่าวเป็นบัญชีทางการของบุคคลหรือบริษัทจริง ซึ่งทวิตเตอร์ไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ กับผู้ที่ได้รับเครื่องหมายนี้
มหาเศรษฐีเจ้าของหลายบริษัท ระบุในวันจันทร์ว่า การเสนอแผนเก็บค่าบริการ มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาบัญชีปลอมในสื่อสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์ และย้ำว่าทวิตเตอร์จะไม่พึ่งพาการโฆษณาเพื่อทำรายได้แก่บริษัท
อิลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทเทสลา (Tesla) นั่งแท่นซีอีโอคนใหม่ของสื่อสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์ ที่เขาเพิ่งปิดดีลซื้อกิจการที่มูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน
SEE ALSO: สรุปประเด็นสำคัญเมื่อ ‘อิลอน มัสก์’ เปิดศักราชใหม่ให้กับ ‘ทวิตเตอร์’อิลอน มัสก์ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้บริหารบริษัทหลายแห่ง ทั้งบริษัทเทคโนโลยีอวกาศ สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) บริษัทสตาร์ทอัพผลิตชิปใส่สมอง นูรัลลิงค์ (Neuralink) และบริษัทโครงสร้างพื้นฐานด้านอุโมงค์ เดอะ บอริ่ง คอมพานี (the Boring Company) สั่งโละบอร์ดบริหารชุดเก่าของทวิตเตอร์ ทั้งอดีตซีอีโอและผู้บริหารระดับสูงของทวิตเตอร์เมื่อสัปดาห์ก่อน พร้อมเสนอแผนในการปรับรูปแบบกระบวนการยืนยันตัวตนของบัญชีทวิตเตอร์ ที่จะเรียกเก็บค่าบริการรายเดือน จากที่แต่เดิมไม่มีค่าใช้จ่ายในการยืนยันตัวคนในสื่อสังคมออนไลน์นี้
แผนเก็บค่ายืนยันตัวตนในบัญชีทวิตเตอร์ เรียกเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย ซึ่งมัสก์ เข้าไปตอบโต้ทวีตแสดงทัศนะของสตีเฟน คิง นักเขียนนวนิยายชื่อดังชาวอเมริกันที่ระบุว่าเขาจะไม่ยอมจ่ายเงิน 20 ดอลลาร์ต่อเดือน เพื่อรักษาสถานะบัญชีทางการของทวิตเตอร์แน่นอน โดยมัสก์ ตอบกลับไปว่า “แล้ว 8 ดอลลาร์ต่อเดือนล่ะเป็นไง?”
หลังจากการเข้าซื้อกิจการเมื่อสัปดาห์ก่อน มัสก์เดินหน้าอย่างรวดเร็วในการมีบทบาทในทวิตเตอร์ เขาประกาศตนในบทบาทซีอีโอ ในเอกสารที่ยื่นต่อคณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์ ก่อนที่ในเอกสารอีกฉบับที่ยื่นต่อหน่วยงานดังกล่าวเมื่อวันจันทร์ มัสก์เผยว่าเขาเป็นผู้บริหารแต่เพียงผู้เดียวของทวิตเตอร์ หลังการเข้าซื้อกิจการ พร้อมเปลี่ยนประวัติย่อของตนในทวิตเตอร์ว่าเป็น “Chief Twit” ซึ่งสื่อถึงแผนการของเขามาก่อนหน้านี้ด้วย และทวีตด้วยว่าแผนการสั่งปลดผู้บริหารยกชุด “เป็นแค่แผนการชั่วคราว”
ด้านพนักงานทวิตเตอร์บางรายที่ให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ ระบุว่า พวกเขาได้รับข้อมูลจากมัสก์และฝ่ายบริหารอื่น ๆ ของทวิตเตอร์น้อยมาก และต้องพึ่งพาข่าวสารจากสื่อมวลชนในการปะติดปะต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นในองค์กรตอนนี้
อย่างไรก็ตาม ทางทวิตเตอร์ไม่ได้ให้ความเห็นในประเด็นที่รอยเตอร์ถามว่า มัสก์จะเป็นซีอีโอทวิตเตอร์ต่อไปอีกนานแค่ไหน หรือมีแผนจะว่าจ้างใครมารับตำแหน่งนี้หรือไม่ ในช่วงเวลาที่รายงานข่าวนี้
- ที่มา: รอยเตอร์