ชาวเน็ตจีนโวย ทางการต่อสายตรงถามคู่แต่งงานใหม่ “เมื่อไหร่จะมีลูก?”

ชาวเน็ตจีนแชร์ประสบการณ์ที่ทางการจีนโทรศัพท์ไปหาคู่แต่งงานใหม่ พร้อมกับถามคำถามเรื่องแผนการมีบุตรของพวกเขา จนกลายเป็นเรื่องฮือฮาในสื่อสังคมออนไลน์แดนมังกรเมื่อวันพฤหัสบดี เพราะมีชาวเน็ตจำนวนมากเจอกับเหตุการณ์ที่คล้ายกันนี้ ตามรายงานของรอยเตอร์

โพสต์ที่เป็นประเด็นในสื่อสังคมออนไลน์เว่ยโป๋ ซึ่งคล้ายกับทวิตเตอร์ ผู้ใช้ในชื่อ 'lost shuyushou' เล่าถึงประสบการณ์ของเพื่อนร่วมงาน ที่ได้รับโทรศัพท์จากทางการท้องถิ่นในหนานจิง ที่เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานดังกล่าว แจ้งว่ารัฐบาลท้องถิ่นในหนานจิง “ต้องการให้คู่แต่งงานใหม่มีลูกภายใน 1 ปี และทางการจะโทรมาติดตามสถานการณ์ทุก 3 เดือน” ก่อนที่โพสต์ที่เป็นประเด็นจะถูกลบออกไปในเวลาไม่กี่ชั่วโมงพร้อมทั้งมหากาพย์ความคิดเห็นใต้โพสต์ในวันเดียวกันนี้

ผู้แสดงความเห็นรายหนึ่ง ระบุในวันพฤหัสบดีด้วยเช่นกันว่า เธอเพิ่งแต่งงานเมื่อเดือนสิงหาคมปีก่อน และได้รับโทรศัพท์ลักษณะดังกล่าวจากทางการท้องถิ่นเช่นกัน ในครั้งแรกเธอถูกถามว่าได้รับวิตามินบำรุงและเตรียมตัวตั้งครรภ์หรือยัง และการติดต่อจากทางการในครั้งที่ 2 เป็นการถามว่า เธอตั้งครรภ์แล้วหรือยัง อีกทั้งยังถูกถามต่อด้วยว่า “เธอแต่งงานแล้ว ทำไมยังไม่เตรียมตัวตั้งท้องอีก? หาเวลาไปมีลูกซะ”

ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องถกเถียงในสื่อสังคมออนไลน์จีน หลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ประกาศในที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า จีนมีแผนจะทำนโยบายกระตุ้นอัตราการเกิดและเพิ่มกลยุทธ์ด้านประชากรของประเทศ

ด้านทางการท้องถิ่นเมืองหนานจิงและคณะกรรมาธิการด้านสาธารณสุขแห่งชาติจีน (National Health Commission) ไม่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในช่วงเวลาที่รายงานข่าวนี้

ที่ผ่านมา จีนดำเนินนโยบายลูกคนเดียว (one-child policy) มายาวนานตั้งแต่ช่วงปี 1980-2015 แต่ปัจจุบันจีนประสบปัญหาประชากรลดลง ซึ่งมีแนวโน้มจะกลายเป็นวิกฤตที่ทดสอบศักยภาพของจีนในการจัดสรรสวัสดิการและดูแลคนสูงอายุในอนาคต

นักประชากรศาสตร์ ระบุว่า จีนจะมีทารกเกิดใหม่น้อยกว่า 10 ล้านคนในปีนี้ ซึ่งลดลงจากปีก่อนที่ 10.6 ล้านคน และเมื่อปี 2020 อัตราการเกิดในจีนลดลงราว 11.5% ยิ่งไปกว่านั้น นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนจะยิ่งทำให้ผู้คนปรารถนาที่จะมีบุตรลดลงไปอีก

ผู้เชี่ยวชาญและนักเคลื่อนไหวบางส่วน แสดงความกังวลเกี่ยวกับแนวทางของรัฐบาลจีนในการใช้วาทกรรมเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงตามธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม และสิทธิสตรีที่ลดทอนลงไป เช่น นโยบายกีดกันการทำแท้งที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสุขภาพ

  • ที่มา: รอยเตอร์