ชาวจีนกวางตุ้งกังวลเกี่ยวกับอนาคตของภาษาของตน

  • Associated Press

n Suzy Tom's first grade class a student points at pictures and characters on a wall at the Alice Fong Yu school in San Francisco, Tuesday, Aug. 30, 2022. (AP Photo/Eric Risberg)

หลายปีที่ผ่านมา การเรียนพูดภาษาจีนกวางตุ้งไม่ใช่เรื่องยากเลยในนครซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นเมืองที่มีคนพูดภาษาจีนกวางตุ้งมากมายจากจีนตอนใต้อพยพมาอยู่เป็นเวลานานกว่า 150 ปี แต่ตอนนี้ มีความหวั่นเกรงว่าภาษาและวัฒนธรรมกวางตุ้งอาจจะสูญหายไปจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมในปัจจุบัน

ทั้งนี้ การเรียนภาษาจีนกวางตุ้งนั้นอาจเป็นเรื่องยาก แม้ว่าในการเขียนภาษาจีนกลางและกวางตุ้งจะใช้อักษรจีนตัวเดียวกัน แต่ในการพูดทั้งสองภาษาจะแตกต่างกัน ภาษาจีนกลางมีสี่โทนเสียงพื้นฐาน ส่วนกวางตุ้งนั้นมีเก้าโทน ซึ่งแยกความแตกต่างได้ยาก นอกจากนี้ ผู้คนทั่วโลกที่ใช้ภาษาจีนกวางตุ้งนั้นมีอยู่ประมาณ 85 ล้านคน ส่วนภาษาจีนกลางมีอยู่ประมาณ 1 พันล้านคน ซึ่งรัฐบาลจีนกำลังผลักดันให้ใช้ภาษาจีนกลางเป็นภาษาประจำชาติ

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ส่งผลต่อการใช้ภาษาจีนกวางตุ้งตั้งแต่จากประเทศอังกฤษไปจนถึงสหรัฐฯ

ที่ประเทศอังกฤษ โรงเรียนส่วนใหญ่ที่สอนภาษาจีนมักจะสอนภาษาจีนกลาง เช่นเดียวกับในสหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้ ครอบครัวผู้อพยพจำนวนมากจึงพยายามหาวิธีถ่ายทอดภาษากวางตุ้งและวัฒนธรรมของตน

ซีซี แปง (Ceci Pang) ครูสอนภาษาจีนกวางตุ้งที่โรงเรียน Rainbow Seeds Cantonese ในกรุงลอนดอนกล่าวว่า “พ่อแม่หลาย ๆ คนต้องการให้ลูกของตนสามารถสื่อสารกับปู่ย่าตายายได้” ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากที่อังกฤษมีแหล่งการเรียนรู้น้อยมาก ดังนั้นผู้ปกครองจำนวนมากจึงเกิดความหงุดหงิดและยอมแพ้ และนั่นก็เป็นจุดที่ทำให้พ่อแม่เหล่านั้นติดต่อมาที่เธอ

แปงกล่าวว่าเธอไม่ได้สังเกตเห็นความกังวลโดยตรงมากมายเกี่ยวกับภาษาจีนกวางตุ้งที่กำลังจะสูญหายไป แต่เรื่องนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีผู้อพยพชาวฮ่องกงจำนวนมากขึ้นย้ายมาอยู่ที่อังกฤษ และเธอคิดว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เมื่อชาวฮ่องกงมาตั้งรกรากที่อังกฤษมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็อาจมีผู้ปกครองจำนวนมากขึ้นที่กังวลว่าลูก ๆ ของพวกตนจะปฏิเสธภาษาจีนกวางตุ้งโดยสิ้นเชิง

ส่วนที่ประเทศจีน ผู้คนแสดงความกังวลมาหลายปีแล้วว่ามีการใช้ภาษาจีนกวางตุ้งลดลง ทั้งนี้ ภาษาจีนกวางตุ้งนั้น ใช้กันในมณฑลกวางตุ้งซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน และเมืองต่าง ๆ ของฮ่องกงและมาเก๊า

กวางโจว ซึ่งเดิมชื่อแคนตัน (Canton) ถือเป็นแหล่งกำเนินของภาษากวางตุ้ง แต่ปัจจุบันเป็นศูนย์รวมงานด้านการผลิตและเทคโนโลยีที่นำภาษาจีนกลางมาใช้ ตอนนี้ คนหนุ่มสาวจำนวนมากสามารถเข้าใจภาษาจีนกวางตุ้งเท่านั้นแต่ไม่สามารถพูดได้

แม้ว่าภาษาจีนกวางตุ้งจะไม่ได้มีความสำคัญต่อชีวิตของผู้คนอย่างที่เคยเป็นมา แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าภาษานี้อยู่ในภาวะวิกฤตในกวางโจว นอกจากนี้ ภาษาจีนกวางตุ้งยังคงใช้กันในบ้านและในหมู่เพื่อนฝูง และยังมีช่องรายการโทรทัศน์กวางตุ้งและการประกาศเกี่ยวกับระบบขนส่งสาธารณะเป็นภาษากวางตุ้งอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ภาษากวางตุ้งยังคงเป็นภาษายอดนิยมในฮ่องกง ซึ่งถูกใช้โดยประชากร 90% ตามข้อมูลจาก เลา ชัค หมิง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านภาษาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Education University of Hong Kong

ส่วนที่สหรัฐฯ มีความแตกต่างในเรื่องนี้ กล่าวคือการสอนภาษาจีนกวางตุ้งลดลงไปบ้าง รวมถึงในซานฟรานซิสโก ซึ่งเมืองที่ดึงดูดผู้คนที่พูดภาษาจีนกวางตุ้งจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้เขตการศึกษาต่าง ๆ ในซานฟรานซิสโกยังมีหลักสูตรภาษาจีนกวางตุ้งและภาษาจีนกลางสำหรับนักเรียนที่อายุยังน้อย แต่ในโรงเรียนมัธยมปลาย มีหลักสูตรภาษาจีนกลางอย่างเดียวเท่านั้น

ในปี 1990 เกรซ หยู ได้รับการว่าจ้างที่ City College of San Francisco ซึ่งมีครูภาษาจีนกวางตุ้งอยู่สี่คนและมีชั้นเรียนภาษาจีนกวางตุ้งเปิดสอนหลายชั้นเรียนในแต่ละปี แต่ในช่วงหกปีที่ผ่านมา หยู กลายเป็นอาจารย์สอนภาษาจีนกวางตุ้งเพียงคนเดียวที่สอนปีละสามชั้นเรียน

ในฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา City College ได้อนุมัติให้มีหลักสูตรภาษาจีนกวางตุ้ง โดยมีผู้สอนชาวจีนกวางตุ้งอย่างน้อยหนึ่งคน หยูตั้งข้อสังเกตว่า "ชั้นเรียนภาษาจีนกวางตุ้งจะไม่ถูกยกเลิกไปถ้าหากเธอเกษียณอายุ"

ในขณะเดียวกัน โรงเรียนภาษาจีนอิสระก็พยายามช่วยสอนภาษาจีนกวางตุ้งในขณะที่ชุมชนที่พูดภาษานี้ก็กำลังเติบโตขึ้น

  • ที่มา: เอพี