กลุ่มสิทธิมนุษยชนแอมเนสตี้ อินเตอร์แนชั่นแนล (Amnesty International) เปิดเผยโดยอ้างเอกสารของทางการอิหร่านที่หลุดออกมาว่า อิหร่านมีคำสั่งให้กองกำลัง “จัดการอย่างรุนแรง” กับผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่ออกมาประท้วงการเสียชีวิตของ มาห์ซา อะมินี ในระหว่างการถูกควบคุมตัวโดยตำรวจศีลธรรม
แอมเนสตี้ อินเตอร์แนชั่นแนล รายงานว่า กองกำลังของอิหร่านได้ใช้กำลังจนทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 52 คน ตั้งแต่เกิดการชุมนุมประท้วงเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยการยิงกระสุนจริงเข้าใส่ฝูงชนและการทุบตีผู้ชุมนุมด้วยกระบอง
กองกำลังอิหร่านยังได้ทุบตีและถึงเนื้อถึงตัวผู้ชุมนุมที่เป็นผู้หญิง ที่ออกมาประท้วงโดยการถอดผ้าคลุมฮิญาบเพื่อประท้วงการปฏิบัติต่อสตรีของระบบการปกครองเทวาธิปไตย
การเสียชีวิตของมาห์ซา อะมินี หลังจากที่เธอถูกควบคุมตัวด้วยข้อหาว่าเธอสวมใส่ฮิญาบที่หลวมเกินไปนั้น ได้ทำให้ชาวอิหร่านออกมาแสดงความโกรธแค้นอย่างมากต่อกลุ่มผู้นำทางศาสนาซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ
ครอบครัวของอะมินีเปิดเผยว่า พวกเขาได้รับแจ้งว่าอะมินีถูกทำร้ายจนเสียชีวิตในระหว่างการถูกควบคุมตัว แต่ตำรวจกล่าวว่าอะมินีในวัย 22 ปีเสียชีวิตเพราะอาการหัวใจวาย และปฏิเสธว่าไม่มีการทำร้ายร่างกายของเธอ ในขณะที่เจ้าหน้าที่อิหร่านกล่าวว่ากำลังสืบสวนสาเหตุการเสียชีวิตของหญิงสาวผู้นี้
แอมเนสตี้ อินเตอร์แนชั่นแนล กล่าวว่าได้รับสำเนาเอกสารของรัฐบาลที่มีการเผยแพร่ออกมาอย่างลับ ๆ โดยกล่าวว่า สำนักงานใหญ่ของกองกำลังอิหร่านได้ออกคำสั่งในวันที่ 21 กันยายน ให้ผู้บังคับบัญชา “จัดการอย่างรุนแรงกับพวกที่สร้างปัญหาและผู้ที่ต่อต้านการปฏิวัติอิหร่าน”
กลุ่มสิทธิมนุษยชนดังกล่าวยังระบุว่า เอกสารดังกล่าวทำให้มีการใช้กำลังจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นในเย็นวันนั้น และทำให้มีผู้เสียชีวิตในคืนนั้นเพียงคืนเดียวอย่างน้อย 34 คน
แอมเนสตี้ อินเตอร์แนชั่นแนล ยังกล่าวด้วยว่า เอกสารทางการที่หลุดออกมาอีกฉบับหนึ่งยังแสดงให้เห็นว่า เพียง 2 วันถัดมาผู้บังคับบัญชาในเมือง มาซานดราน ยังได้สั่งให้กองกำลัง “จัดการกับผู้ชุมนุมอย่างไม่ต้องปราณี และสามารถเอาให้ถึงตาย โดยเฉพาะกับผู้ที่ก่อการจลาจลและผู้ที่ต่อต้านการปฏิวัติอิหร่าน” ซึ่งหมายถึงชาวอิหร่านที่ต่อต้านการปฏิวัติอิสลามในปี ค.ศ.1979 ที่ทำให้กลุ่มผู้นำศาสนาก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ
แอกเนส คาลลามาร์ด (Agnes Callamard) เลขาธิการของแอมเนสตี้ อินเตอร์แนชั่นแนล กล่าวว่า “ทางการอิหร่านตัดสินใจทำร้ายและฆ่าประชาชนที่ออกมาแสดงความโกรธเกรี้ยวจากการถูกกดขี่ข่มเหง และการทนอยู่ภายใต้ความอยุติธรรมมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ”
กลุ่มสิทธิมนุษยชนแอมเนสตี้ไม่ได้เปิดเผยว่าได้เอกสารดังกล่าวมาได้อย่างไร และทางการอิหร่านก็ไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อการเปิดเผยเอกสารดังกล่าวในทันที
ก่อนหน้านี้ ผู้นำของอิหร่านกล่าวหาว่ามีหน่วยงานหรือองค์กรของต่างชาติที่มุ่งร้ายต่ออิหร่าน ที่ฉวยโอกาสนี้เพื่อสร้างความปั่นป่วนภายในประเทศ และกล่าวว่าผู้ที่ออกมาชุมนุมนั้นเป็นพวกก่อการจลาจล โดยกล่าวว่ากองกำลังของอิหร่านก็เสียชีวิตเช่นกัน
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง สำนักข่าวของรัฐบาลกรุงเตหะราน IRNA รายงานว่ามีเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นอีกครั้งในเมือง ซาเฮดาน (Zahedan) ใกล้กับชายแดนปากีสถานและอัฟกานิสถาน โดยรายงานระบุว่ามีผู้ใช้อาวุธปืนกราดยิงและขว้างระเบิดเพลิงใส่สถานีตำรวจ จนทำให้เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่
IRNA รายงานด้วยว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ตำรวจและผู้ที่ผ่านไปมาในบริเวณนั้นได้รับบาดเจ็บ โดยที่ไม่ได้ให้รายละเอียด หรืออธิบายว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลหรือไม่ ซึ่งในพื้นที่เกิดเหตุนั้น เคยเกิดการโจมตีกองกำลังอิหร่านโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนและกลุ่มติดอาวุธมาก่อน
คลิปวีดีโอที่มีการเผยแพร่กันทางสื่อสังคมออนไลน์ แสดงให้เห็นการยิงปืนต่อสู้ และรถตำรวจถูกเผา บางคลิปแสดงให้เห็นฝูงชนตะโกนด่าทอรัฐบาลไปพร้อม ๆ กัน นอกจากนี้ยังมีคลิปวีดีโอที่แสดงให้เห็นการชุมนุมประท้วงในเมืองอื่น ๆ ของอิหร่าน เช่น เมืองอาห์วาซ ทางตะวันตกเฉียงใต้ และ อาร์ดาบิล ทางตะวันตกเฉียงเหนือ
สถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลอิหร่านรายงานว่ามีผู้ชุมนุมและตำรวจเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 41 คนตั้งแต่มีการชุมนุมในวันที่ 17 กันยายนเป็นต้นมา ในขณะที่สำนักข่าวเอพีรายงานว่ามีผู้ชุมนุมถูกจับกุมแล้วกว่า 1,500 คน
คณะกรรมาธิการความปลอดภัยสื่อ หรือ Committee to Project Journalists ที่มีสำนักงานใหญ่ที่มหานครนิวยอร์ก รายงานในวันพฤหัสบดีว่ามีผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 28 คนที่ถูกจับกุม
ทางการของอิหร่านได้จำกัดการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตอย่างมาก และสกัดกั้นการเข้าถึงแอพพลิเคชันอย่าง อินสตาแกรม (Instagram) และวอทส์แอพ (Whatsapp) ที่เป็นที่นิยมใช้ในหมู่ผู้ชุมนุมเพื่อแบ่งปันข้อมูลและนัดแนะการชุมนุมประท้วง ข้อจำกัดเหล่านี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เป็นการยากที่จะระบุจำนวนของผู้ประท้วง หรือวัดขนาดของการชุมนุม โดยเฉพาะการชุมนุมที่อยู่นอกกรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน ในขณะที่สื่อของอิหร่าน ทำข่าวการชุมนุมแต่เพียงประปรายเท่านั้น
ที่มา: เอพี