‘ปูติน’ ชม ‘สี จิ้นผิง’ วางตัวเป็นกลางบนความขัดแย้งยูเครน

Uzbekistan Xi Putin Summit

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย กล่าวชื่นชมประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ในการวางบทบาทของจีนอย่างเป็นกลาง บนความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ระหว่างการพบกันตัวต่อตัวของสองผู้นำที่อุซเบกิสถาน เมื่อวันพฤหัสบดี ตามรายงานของรอยเตอร์

การพบกันแบบตัวต่อตัวครั้งแรกระหว่างประธานาธิบดีปูติน และประธานาธิบดีสี นับตั้งแต่สงครามยูเครนปะทุขึ้น ผู้นำจีน ระบุว่า ตนยินดีที่ได้พบกับ “เพื่อนเก่า” อีกครั้ง หลังจากปธน.ปูติน กล่าวว่า ความพยายามของสหรัฐฯ ในการสร้างโลกแบบขั้วเดียวจะล้มเหลว

ปธน. ปูติน กล่าวในวันเดียวกันว่า “เราเข้าใจถึงคำถามและความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ (สถานการณ์ยูเครน) ระหว่างการหารือวันนี้ เราจะอธิบายจุดยืนของเรา เราจะอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับท่าทีของเราในเรื่องนี้ แม้ว่าเราจะหารือเรื่องนี้กันมาก่อนแล้วก็ตาม”

พร้อมกันนี้ ผู้นำรัสเซียยังใช้โอกาสนี้ชื่นชมผู้นำจีน ในสิ่งที่ผู้นำรัสเซียเรียกว่าบทบาทที่ ‘สมดุล’ บนความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยกล่าวว่า “เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับบทบาทที่เป็นกลางของจีนผู้เป็นมิตรของเรา เมื่อกล่าวถึงประเด็นวิกฤตยูเครน” ซึ่งปธน. ปูติน เรียกปธน.จีนว่า “สหายสี จิ้นผิง ที่รัก”

Russian President Vladimir Putin meets with Chinese President Xi Jinping in Samarkand

ถ้อยแถลงแรกของปธน. ปูติน เกี่ยวกับความกังวลของจีนเรื่องสงครามยูเครน มีขึ้นเพียงไม่กี่วันก่อนที่รัสเซียจะส่งทหารเข้าบุกยูเครน ซึ่งการรุกรานยูเครนของรัสเซีย คร่าชีวิตผู้คนหลายหมื่นและทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่สภาวะใหม่ที่ภาวะราคาอาหารและพลังงานพุ่งสูงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ท่ามกลางการเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลมอสโกกับชาติตะวันตกครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น

อย่างไรก็ตาม ปธน. สี ของจีน ซึ่งมีเป้าหมายในการรักษาเก้าอี้ผู้นำสมัยสาม ในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนในเดือนหน้า เพื่อให้ตนขึ้นแท่นผู้นำจีนผู้ทรงอำนาจที่สุดนับตั้งแต่เหมา เจ๋อตุง ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทางปธน. สี ไม่ได้กล่าวถึงยูเครนในถ้อยแถลงการณ์ของเขาในวันพฤหัสบดีแต่อย่างใด เพียงแต่ย้ำว่า จีนยินดีที่จะให้การสนับสนุนอย่างเข้มแข็งกับรัสเซีย ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชาติ ตามรายงานของสื่อ CCTV ของทางการจีน

ที่ผ่านมา จีนเอาตัวออกห่างจากการประณามปฏิบัติการพิเศษทางการทหารของรัสเซียต่อยูเครน ไม่แม้แต่จะเรียกว่า “การรุกราน” ซึ่งเป็นท่าทีสอดประสานกันกับรัฐบาลเครมลิน ที่เรียกสงครามนี้ว่าเป็น “ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร”

ทั้งนี้ ครั้งสุดท้ายที่ผู้นำทั้งสองได้พบกันแบบตัวต่อตัว คือ ช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนรัสเซียบุกยูเครนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ โดยผู้นำทั้งสอง ได้ประกาศความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ “แบบไม่มีข้อจำกัด” ระหว่างกัน แต่จนถึงขณะนี้ จีนเองได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจโลก และยังต้องระมัดระวังที่จะไม่ส่งความช่วยเหลือแก่รัสเซียที่อาจทำให้จีนเผชิญกับมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตกเสียเอง

ยินดีที่ได้พบเพื่อนเก่า

Russian President Vladimir Putin meets with Chinese President Xi Jinping in Samarkand

ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างปธน. สี และปธน. ปูติน เป็นหนึ่งในการพัฒนาความสัมพันธ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญครั้งหนึ่ง หลังจากจีนก้าวขึ้นมามีบทบาทในเวทีโลกตลอดช่วง 40 ปีที่ผ่านมา และผู้นำทั้งสองพร้อมที่จะทำงานร่วมกัน

แต่สงครามยูเครนที่ปะทุขึ้น ได้ตอกย้ำความแตกต่างระหว่างจีนและรัสเซีย ในแง่ที่ว่า ประเทศหนึ่ง คือ มหาอำนาจกำลังเติบโต และมีขนาดเศรษฐกิจที่พร้อมจะเอาชนะสหรัฐฯ ได้ในอีกสิบปีข้างหน้า กับอีกประเทศมหาอำนาจที่กำลังจะกลายเป็นอดีตประเทศผู้ยิ่งใหญ่ และกำลังตกระกำลำบากกับภาวะสงคราม

ปธน. สี ได้กล่าวกับปธน. ปูติน ในโอกาสนี้ “ในช่วงเวลาที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลง ทั้งในยุคของเราและในประวัติศาสตร์ของเรา จีนยินดีที่จะทำงานร่วมกับรัสเซียในการแสดงบทบาทของผู้นำ ที่มีความรับผิดชอบในฐานะประเทศมหาอำนาจ และสร้างความมีเสถียรภาพและพลังเชิงบวกให้กับโลกอันวุ่นวายนี้”

แม้ว่าปธน. สี จิ้นผิง จะพบกับปธน. ปูตินแบบตัวต่อตัวมาแล้วถึง 39 ครั้ง นับตั้งแต่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศเมื่อปี 2013 ปธน. สี ยังไม่มีโอกาสได้พบกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน แบบตัวต่อตัวเลย นับตั้งแต่ปธน. ไบเดน ขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ ในปี 2021

หารือเรื่องไต้หวัน-ความมั่นคงด้านพลังงาน

นอกเหนือจากประเด็นยูเครนแล้ว ผู้นำรัสเซียและจีน ได้แลกเปลี่ยนทัศนะในประเด็นโลกต่าง ๆ ซึ่งทั้งสองมหาอำนาจต่างมองว่าชาติตะวันตกกำลังเสื่อมถอยในอำนาจ ระหว่างที่จีนท้าทายอำนาจอันยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ ในขณะนี้

ประธานาธิบดีปูติน แสดงท่าทีสนับสนุนจีนอย่างชัดเจน ต่อประเด็นไต้หวัน โดยกล่าวว่า “เรามีความตั้งใจในการยึดหลักการจีนเดียวอย่างแน่วแน่” และว่า “เราขอประณามการยั่วยุจากสหรัฐฯ และฝ่ายสนับสนุนสหรัฐฯ บริเวณช่องแคบไต้หวันด้วย”

จีนเดินหน้าซ้อมรบรอบบริเวณเกาะไต้หวัน หลังการเยือนกรุงไทเปของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ส.ส. แนนซี เพโลซี เมื่อเดือนสิงหาคม และไต้หวันปฏิเสธการที่จีนกล่าวอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนมาโดยตลอด

ระหว่างที่ชาติตะวันตกลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ปธน. ปูติน มองหาเส้นทางส่งออกมายังจีนและเอเชีย ผ่านโครงการท่อส่งก๊าซ Siberia 2 ที่สามารถส่งก๊าซได้ราว 50,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณก๊าซธรรมชาติที่รัสเซียขายให้กับยุโรป โดยคาดว่าจะใช้ท่อส่งก๊าซผ่านมองโกเลีย ซึ่งในการหารือของผู้นำจีนและรัสเซีย ประธานาธิบดีมองโกเลีย สนับสนุนการใช้มองโกเลียเป็นทางเชื่อมในการสร้างท่อส่งก๊าซระหว่างรัสเซียไปยังจีนด้วยเช่นกัน

Uzbekistan Xi Putin Summit

  • ที่มา: รอยเตอร์