นักวิเคราะห์เสียงแตก ปม ‘ไบเดน’ ปัดเรียกรัสเซีย ‘รัฐก่อการร้าย’

  • VOA

Biden-Putin Collage

ผู้นำสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะขึ้นบัญชีดำให้รัสเซีย เป็นรัฐสนับสนุนการก่อการร้าย ซึ่งบรรดาผู้สันทัดกรณีมีทัศนะที่หลากหลายเกี่ยวกับเรื่องนี้

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตัดสินใจปฏิเสธที่จะประกาศให้รัสเซีย เป็นรัฐที่สนับสนุนการก่อการร้าย ที่ทางทำเนียบขาวให้เหตุผลว่าหากไม่ทำเช่นนั้น อาจส่งผลตรงกันข้ามและกระทบต่อการสนับสนุนยูเครนในการรับมือการรุกรานจากรัสเซีย

คำตอบว่า ‘ไม่’ เพียงสั้น ๆ โดยปราศจากเหตุผลเพิ่มเติมจากประธานาธิบดีไบเดน ระหว่างที่ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบขาว ตั้งคำถามในวันจันทร์ว่า “รัสเซียควรถูกเรียกว่าเป็นรัฐที่สนับสนุนการก่อการร้ายหรือไม่?” ถือเป็นการจบการสนทนาหารือที่จริงจังและกินเวลายาวนานทั้งในสภาสหรัฐฯ และนานาประเทศ ในประเด็นที่ว่าควรประกาศให้รัสเซียเป็นรัฐหนุนก่อการร้าย เหมือนกับกรณีของคิวบา อิหร่าน เกาหลีเหนือ และซีเรีย หรือไม่

กรณีของสี่ประเทศข้างต้นนี้ ทางกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า เป็นการเรียกรัฐบาลต่างประเทศที่ “ให้การสนับสนุนกิจกรรมการก่อการร้ายระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง” ซึ่งยังผลให้มีการบังคับใช้มาตรการจำกัดความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ มาตรการห้ามส่งออกและค้าขายอาวุธ การควบคุมสินค้าบางชนิดที่เกี่ยวเนื่องกับการทหาร และมาตรการลงโทษอื่น ๆ ตามมา

วันอังคาร ทำเนียบขาวอธิบายกระบวนการตัดสินใจของปธน.ไบเดน โดยระบุว่า “คำประกาศดังกล่าวอาจให้ผลกระทบต่อยูเครนและโลก อย่างเช่น ผลกระทบร้ายแรงต่อความสามารถในการส่งความช่วยเหลือให้กับยูเครน” และว่า “อีกอย่างหนึ่ง คือ คำประกาศนี้อาจผลักไสผู้ที่มีบทบาทสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนและด้านการค้ารายอื่น ๆ ออกจากการส่งออกอาหาร เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตด้านอาหารโลก และส่งผลร้ายแรงต่อข้อตกลงทะเลดำที่ลงนามเพื่อแก้ปัญหานี้”

ทำเนียบขาวเพิ่มเติมว่า “สิ่งนี้ (การประกาศให้รัสเซียเป็นรัฐก่อการร้าย) อาจกระทบต่อความพยายามระดับพหุภาคีย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในการระบุให้ (ปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน) ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ (ต่อสงครามยูเครน) และอาจบั่นทอนโอกาสในการผลักดันยูเครนเข้าสู่การเจรจากับรัสเซียได้ ... ดังนั้น สิ่งนี้อาจไม่ใช่หนทางที่มีประสิทธิภาพหรือดีที่สุด”

President Volodymyr Zelensky

ฝ่ายสนับสนุน

ผู้ที่สนับสนุนการประกาศให้รัสเซียเป็นรัฐก่อการร้าย ได้แก่ ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ที่เสนอข้อเรียกร้องนี้อีกครั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ผู้นำยูเครน ย้ำยืนยันอีกครั้งในวันอังคารว่า “รัสเซียสนใจเพียงแค่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายให้ได้ยาวนานที่สุดเท่าที่ทำได้ และเรื่องนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการเพิ่มมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ (แก่รัสเซีย) และการระบุให้รัสเซียเป็นรัฐก่อการร้ายในทุกระดับ” หลังจากคณะผู้ตรวจสอบของสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA แสดงความกังวลถึงการสู้รบของรัสเซียและยูเครน บริเวณโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริห์เชีย ที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้

และเมื่อเดือนที่แล้ว ลัตเวีย มีมติท่วมท้นในการสนับสนุนการประกาศให้รัสเซียเป็นรัฐก่อการร้าย และเรียกร้องชาติอื่น ๆ ปฏิบัติตามเช่นกัน

ด้านวุฒิสภาสหรัฐฯ จากทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน อาทิ วุฒิสมาชิกลินด์ซีย์ แกรห์ม จากพรรครีพับลิกัน และวุฒิสมาชิกริชาร์ด บลูเมนธาล สนับสนุนให้สหรัฐฯ ประกาศให้รัสเซียเป็นรัฐก่อการร้าย

ฝ่ายคัดค้าน

โฆษกรัฐบาลเครมลิน ดมิทรี เพสคอฟ ระบุในวันอังคาร คัดค้านข้อเรียกร้องการประกาศให้รัสเซียเป็นรัฐที่สนับสนุนการก่อการร้าย โฆษกรัฐบาลเครมลิน ระบุว่า “สิ่งที่อยู่เบื้องหลังในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ชั่วร้าย” และว่า “เป็นสิ่งที่ดีที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีท่าที (ปฏิเสธข้อเรียกร้อง) เช่นนั้น”

ระหว่างที่เพสคอฟ ยินดีกับการปฏิเสธการแถลงประกาศดังกล่าวกับรัสเซีย เขาเสริมว่า รัฐบาลรัสเซียไม่ได้มองเห็นสิ่งที่ผู้นำสหรัฐฯ ทำว่าเป็นการสะท้อนสัมพันธ์ที่ดีขึ้นของสองประเทศแต่อย่างใด

ทางการสหรัฐฯ เห็นว่ารัสเซียกำลังตกที่นั่งลำบาก ท่ามกลางมหากาพย์มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจขนานใหญ่จากสหรัฐฯ อยู่แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน กล่าวว่า “มูลค่าความเสียหายที่สหรัฐฯ และนานาชาติใช้บทลงโทษต่าง ๆ กับรัสเซีย สอดรับกับผลที่จะเกิดขึ้นหากประกาศให้รัสเซียเป็นรัฐที่สนับสนุนการก่อการร้ายอยู่แล้ว”

ด้านนักวิเคราะห์บางราย ชี้ว่า รัสเซียยังไม่ถึงขั้นที่จะให้สถานะว่าเป็นรัฐก่อการร้าย

ดั๊ก แบนโดว์ นักวิชาการอาวุโส จากสถาบัน Cato Institute ให้ทัศนะว่า “ภายใต้มาตรฐานปัจจุบัน หลายประเทศอาจเข้าข่ายเป็นประเทศที่ให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย อย่างเช่น เมียนมา จีน เอริเทรีย เติร์กเมนิสถาน ปากีสถาน รวานดา ไนจีเรีย และซิมบับเว” และว่า “พันธมิตรสหรัฐฯ บางประเทศ สมควรอยู่ในกลุ่มประเทศดังกล่าว ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน ตุรกี และอียิปต์ เช่นเดียวกับซาอุดีอาระเบีย” แบนโดว์ สรุปว่า “ระบอบปูตินนั้นเป็นสิ่งชั่วร้าย แต่ไม่ใช่การสนับสนุนการก่อการร้าย”

ฝ่ายที่ยังไม่ตัดสินใจ

เช่นเดียวกับกลุ่มสนับสนุนและคัดค้าน นักวิเคราะห์บางส่วน รวมทั้งที่ทำเนียบขาว มองว่าประเด็นนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่มุมขาวและดำเท่านั้น

เดลานีย์ ไซมอน นักวิจัยจาก International Crisis Group ระบุว่า สหรัฐฯ และรัสเซีย กระทบกระทั่งกันในหลายเวที รวมทั้งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ทั้งสองชาติเป็นหนึ่งในห้าสมาชิกถาวร

ไซมอน เปิดเผยกับวีโอเอว่า “ไม่มีประเทศใดในโลกที่เป็นรัฐสนับสนุนก่อการร้ายที่มีบทบาทในองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งนั่นจะทำให้การทูตระดับพหุภาคีมีความซับซ้อนอย่างยิ่ง”

นักวิจัยจาก International Crisis Group เพิ่มเติมว่า การประกาศให้รัสเซียเป็นรัฐก่อการร้ายจะสิ้นสุดหลักการปกป้องคุ้มครองรัฐบาลรัสเซียจากการถูกดำเนินคดีทางกฎหมายจากชาวอเมริกันที่อ้างว่าได้รับผลกระทบจากรัสเซีย ซึ่งการพิจารณาคดีเหล่านี้จะกินเวลานานหลายปี

ยิ่งไปกว่านั้น การยกเลิกคำประกาศดังกล่าว เป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญอย่างยิ่ง “มีรายการสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามกฎหมายมากมายก่อนที่จะยกเลิกคำประกาศนั้นได้ อย่างหนึ่ง คือ การยกเลิกคำประกาศนี้ ประเทศนั้นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำและนโยบาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่จะได้เห็น”

ท้ายสุดแล้ว นักวิจัยจาก International Crisis Group กล่าวว่า หากเป้าหมายคือการยุติสงครามยูเครนที่ยืดเยื้อมากว่าหกเดือน มาตรการดังกล่าวอาจไม่ช่วยอะไรเลย “เพราะหากมองลึกลงไปถึงการบังคับใช้นโยบายในประเด็นนี้ มันชัดเจนอยู่แล้วว่า การขึ้นบัญชีรัฐก่อการร้ายกับรัสเซียไม่ได้ช่วยอะไรยูเครนได้เลย”

  • ที่มา: วีโอเอ