น้ำทะเลในบริเวณชายฝั่งกำลังรุกเข้ามายังพื้นที่ทำการเกษตรในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้พื้นดินและแหล่งน้ำปนเปื้อนไปด้วยความเค็ม และเป็นอันตรายต่อผลผลิตทางการเกษตร และในบางพื้นที่เช่น ในทวีบเอเชีย การรุกล้ำเข้ามาของน้ำเค็มทำให้ชาวสวนชาวนาบางคนแทบจะไม่สามารถปลูกข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักของภูมิภาคได้
พรัก ญอน (Prak Nhorn) เป็นชาวนาคนหนึ่งในหมู่บ้าน สลับ ดา ออน (Slab Ta Aon) ซึ่งอยู่ติดกับชายทะเล ห่างจากกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชาไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 150 กิโลเมตร
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา น้ำทะเลได้ทำลายนาข้าวของชาวนาในหมู่บ้าน จนทำให้ พรัก ญอน เริ่มไม่แน่ใจว่าเขาและชาวนาคนอื่น ๆ จะสามารถปลูกข้าวได้อีกหรือไม่ในอนาคต
พรัก ญอนกล่าวว่ากับวีโอเอว่า "หลังจากที่ปักดำต้นกล้าไปในนาข้าว สีของต้นกล้าเหล่านั้นเปลี่ยนเป็นสีแดง ก่อนที่จะตายในที่สุด เพราะดินมีความเค็ม จนทำให้ต้นกล้าไม่สามารถเติบโตได้"
สภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ได้ทำให้พื้นที่บริเวณชายฝั่งหลายแห่งทั่วโลกทรุดตัว และเกิดปรากฎการณ์น้ำทะเลหนุน
น้ำทะเลทำให้พื้นดินและแหล่งน้ำจืดบนฝั่งปนเปื้อนไปด้วยเกลือ ส่งผลต่อกิจกรรมการเกษตร ในทวีปเอเชีย ความเค็มที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลเสียต่อหลายพื้นที่ชายฝั่งที่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวของชาวนา พืชผลการเกษตรหลักของภูมิภาค
บีเยิร์น โอเล ซานเดอร์ ผู้เชี่ยวชาญประจำประเทศเวียดนามแห่ง สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ หรือ International Rice Research Institute กล่าวว่าข้าวเป็นพืชที่่สำคัญความมั่นคงด้านอาหารในเอเชีย
ซานเดอร์กล่าวว่า “ข้าวเป็นอาหารหลักของผู้คนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก และยังคิดเป็นกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานจากอาหารที่มีการบริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหลายคนกินข้าวทุกวันในทุกมื้ออาหาร”
ในเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของโลก ความเค็มกำลังเปลี่ยนสภาพของพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงอย่างรวดเร็ว ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำชายฝั่ง และเป็นพื้นที่ที่ใช้ปลูกข้าวมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตข้าวทั้งหมดในเวียดนาม
โค วาน หวัน กล่าวกับวีโอเอว่าน้ำทะเลได้ทำลายนาข้าวของเขาในจังหวัด ลองอัน ในเวียดนาม
เขากล่าวว่า "ถ้าหากมีน้ำจืด ก็จะสามารถปลูกข้าวได้ตลอดทั้งปี แต่เมื่อไม่มีน้ำจืดแล้ว ก็จะไม่สามารถปลูกอะไรได้"
บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ารัฐบาลเวียดนามวางแผนปรับกิจกรรมการเกษตรเพื่อรับมือกับปัญหาความเค็มนี้ โดยการลดการปลูกข้าว และเปลี่ยนไม่ให้มีการใช้พื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงปลูกข้าวราคาถูกจำนวนมากเพียงอย่างเดียว ซึ่งนั่นอาจจะเป็นข่าวร้ายสำหรับประเทศอื่น
บีเยิร์น โอเล ซานเดอร์ ผู้เชี่ยวชาญแห่ง สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ กล่าวว่า “ข้าวที่เวียดนามส่งออกนั้น ส่วนใหญ่ได้มาจากข้าวที่เพาะปลูกในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งหมายความว่า ประเทศผู้นำเข้าข้าวจากเวียดนาม เ่ช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และบางประเทศในทวีปแอฟริกา จะต้องได้รับผลกระทบจากผลของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปัญหาความเค็มของดินในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงด้วยเช่นกัน”
สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศประเมินว่าการผลิตข้าวทั่วโลกจะต้องเพิ่มขึ้นทุกปีเพื่อที่จะทำให้มีข้าวเพียงพอ ในปริมาณที่จะทำให้ข้าวมีราคาที่ผู้คนหลายพันล้านคนสามารถซื้อหาได้ ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกและกิจกรรมของมนุษย์ก็มีแต่จะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น และทำให้ชายฝั่งทรุดลง
เมื่อมองกลับมายังหมู่บ้าน สลับ ดา ออน พรัก ญอน บอกว่าเขาไม่รู้ว่าจะต้องแก้ปัญหาอย่างไร
เขากล่าวว่าเขากลุ้มใจกับปัญหาพายุฝน น้ำท่วม และการรุกล้ำของน้ำเค็ม ที่เกิดขึ้นทุกปี ที่มีแต่จะเป็นผลร้ายต่อนาข้าวของเขาและชาวบ้านคนอื่น ๆ
ในฤดูทำนาปีนี้ พรัก ญอน สูญเสียเงินไปเป็นจำนวนมากกับการเพาะปลูกต้นกล้า ที่ต้องมาตายเพราะน้ำเค็ม และเมื่อดูเหมือนว่าปัญหาน้ำเค็มนี้จะยังคงเกิดขึ้นทุก ๆ ปี เขาเองก็ไม่แน่ใจว่า ในฤดูกาลหน้า เขาควรจะปลูกข้าวตามเดิมอีกหรือไม่
ที่มา: วีโอเอ