ย้อนวัยเรียนที่สหรัฐฯ ของ “ชัชชาติ” ผ่านบทสนทนากับอาจารย์-เพื่อนระดับป.เอก 

THAILAND-POLITICS-VOTE

วีโอเอพูดคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และเพื่อนร่วมชั้นเรียนของ รศ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมัยที่เขาศึกษาระดับปริญญาเอกด้านวิศวกรรมโครงสร้างที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ ถึงตัวตนของเขา ตั้งแต่สมัยเมื่อครั้งที่เขายังเป็นนักศึกษาที่สหรัฐฯ เมื่อราว 30 ปีที่แล้ว

ศาสตราจารย์ชารอน แอล วู้ด ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของผู้ว่า กทม. รายนี้ ระบุว่า ชัชชาติไม่ได้แสดงความสนใจด้านการเมืองหรือการพัฒนาเมืองเมื่อครั้งยังศึกษาในระดับปริญญาเอก แต่เธอเห็นว่าเขามีคุณสมบัติที่เหมาะกับการเป็นนักการเมืองคือ การเป็นคนที่สนใจเรียนรู้เพิ่มตลอดเวลา ไม่กลัวที่จะแก้หรือเผชิญกับปัญหาใหม่ ๆ

“ปกติแล้ว นักศึกษาระดับปริญญาเอกมักศึกษางานที่คนอื่นทำมาก่อน และสะท้อนงานวิจัยนั้นออกมา แต่ทริปเขาทำยิ่งกว่านั้น... ฉันเห็นว่า คำว่า ‘ผู้บุกเบิก’ (pioneer) เป็นคำที่ใช้เรียกเขาได้ดีนะคะ”

อาจารย์วู้ด รองประธานฝ่ายบริหารและรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน ซึ่งเคยเป็นศาสตราจารย์ ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ ย้อนความทรงจำที่เธอมีต่อชัชชาติ โดยเรียกเขาด้วยชื่อเล่น

“ตอนแรกฉันคิดว่า ‘ทริป’ เป็นคนขี้อายมากนะคะ เพราะเขาไม่ค่อยคุยกับฉันเท่าไหร่ แต่เขาเป็นนักศึกษาที่ยอดเยี่ยม วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของเขาโดดเด่นมาก”

Sharon L Wood, executive vice president and provost of the University of Texas at Austin

แม้ความทรงจำแรกของอาจารย์วู้ดต่อชัชชาติจะเห็นว่าเขาเป็นไม่ค่อยพูด แต่เธอประทับใจเขา เมื่อครั้งที่เธอได้พูดคุยกับเขา ขณะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์เรื่อง “การวิเคราะห์ไฟไนต์เอเลเมนต์ของผนังคอนกรีตเสริมรับแรงเฉือน” (finite element analysis of reinforced concrete shear walls) ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์จบการศึกษาเมื่อปีค.ศ. 1994 ของชัชชาติ

“เราคุยกันเยอะมากเกี่ยวกับงานวิจัยของเขา เขาจะดูผลการศึกษาชิ้นก่อน ๆ ก่อนทำการทดลองหลายครั้ง นำเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาการตอบสนองของผนังคอนกรีต (ต่อแผ่นดินไหว) เขาคิดล้ำไปกว่าที่คนอื่นคิด และเป็นคนที่คิดนอกกรอบ” อาจารย์วู้ดกล่าว

เธอเล่าให้ฟังถึงข้อสังเกตของชัชชาติระหว่างทำวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ว่า เขาเห็นว่าการเสริมฐานผนังคอนกรีตแบบปกติไม่เพียงพอต่อการรับมือแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ เขาจึงพัฒนาการเสริมกำแพงในแบบแนวทแยงซึ่งตอบสนองต่อแผ่นดินไหวได้ดีกว่า โดยเขาได้นำเสนอบทวิเคราะห์คำนวณดังกล่าวในวิทยานิพนธ์ของเขา ก่อนที่จะนำการวิเคราะห์นี้ไปทดลองสร้างกำแพงที่ได้รับการเสริมแนวทแยงเมื่อเขาสำเร็จการศึกษาและกลับไปยังไทยแล้ว

หลังจากที่ชัชชาติสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกที่รัฐอิลลินอยส์แล้ว อาจารย์วู้ดและชัชชาติยังคงติดต่อสื่อสารกันในเชิงวิชาการ โดยได้เขียนงานวิจัยด้วยกันในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ก่อนที่จะขาดการติดต่อไปหลังจากอาจารย์วู้ดย้ายมาประจำที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน

THAILAND-POLITICS

ทางด้านเจฟ ดราโกวิค วิศวกรโครงสร้าง และเพื่อนร่วมชั้นระดับปริญญาเอกของชัชชาติ ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ กล่าวกับวีโอเอไทยว่า ‘ทริป’ ในความทรงจำของเขา เป็นคนที่ “เป็นคนฉลาดที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอ”

“ในชั้นเรียนหนึ่ง น่าจะเป็นชั้นเรียนท้าย ๆ แล้วล่ะ มีวิชาระเบียบวิธีคำนวณเชิงตัวเลขและระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ (numerical methods and finite element analysis) เป็นที่รู้กันดีว่าอาจารย์วิชานี้จะไม่ให้โจทย์โครงงานก่อนช่วงท้ายเทอม เพราะฉะนั้น 99% ของคนที่ลงเรียนวิชานี้จะเลือกเรียนไม่จบเนื่องจากอาจารย์มักให้งานก่อนช่วงสอบปลายเทอม และนักศึกษาส่วนใหญ่ต้องอ่านหนังสือและทำอย่างอื่นกัน

แต่ไม่ใช่ทริปครับ ผมจำได้ว่าเห็นเขาเดินผ่านห้องปฏิบัติการ น่าจะเป็นช่วงวันขอบคุณพระเจ้านะ เขาใส่รองเท้าแตะเดินผ่านทางเดินในตึก (เพื่อทำโครงงาน) ในขณะที่คนอื่น ๆ ไม่สามารถพอที่จะทำงานส่งทันได้ ทริปเป็นคนที่ทั้งฉลาดและเร็วมาก...เขาทำนั่นทำนี่ตลอด ถ้าไม่นอนก็ทำงาน ผมมั่นใจว่าเขาก็เป็นแบบนี้มาตลอดนะ”


เช่นเดียวกับอาจารย์วู้ด ดราโกวิคเล่าว่า เขาไม่เห็นว่าชัชชาติสนใจงานด้านการเมืองเมื่อสมัยมหาวิทยาลัย แต่เขาก็ไม่แปลกใจที่ชัชชาติจะโลดแล่นในเวทีการเมืองไทย ตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ดราโกวิคเคยอยู่ร่วมกลุ่มเรียนเดียวกับชัชชาติหลายกลุ่มในช่วง 1-2 ปีแรกของการเรียนระดับปริญญาเอก ใช้เวลาร่วมกันราวสัปดาห์ละ 40-60 ชั่วโมง ก่อนที่จะเจอกันน้อยลงหลังเรียนในชั้นเรียนครบทุกวิชาและถึงเวลาทำวิทยานิพนธ์แล้ว

FILE PHOTO: Chadchart Sittipunt, of Pheu Thai Party, speaks during the 2019 Thailand general election campaignn in Bangkok

ดราโกวิคเล่าว่า เขาและชัชชาติ “เข้ากันได้” และยังคงเป็นเพื่อนกันแม้จะพบกันน้อยลง โดยชัชชาติสำเร็จการศึกษาก่อนเขา ส่วนดราโกวิชได้ย้ายไปที่เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน และทำวิทยานิพนธ์เสร็จที่เมืองนั้น หลังจากนั้นทั้งคู่ได้ติดต่อกันผ่านทางอีเมล ก่อนที่ดราโกวิชจะได้ไปพบชัชชาติที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2001 ขณะที่ชัชชาติยังเป็นอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่เขาได้พบกับชัชชาติแบบตัวต่อตัว

“ตอนนั้นผมอยู่ที่โรงแรม เขาขับรถสกูตเตอร์คันเล็กมารับผม ไม่ได้ขับรถอย่างรถเบนซ์คันใหญ่มา ผมก็ขึ้นขี่รถด้านหลัง เราไปทานอาหารที่ร้านค่อนข้างดีร้านหนึ่ง แล้วเราก็ไปที่ออฟฟิศของเขาที่มหาวิทยาลัย การจราจรแย่มาก เขาบอกผมว่า เขาเลยมักเดินทางไปทำงานตอนกลางคืนเพื่อเลี่ยงการจราจร

เขามีที่รองนอนธรรมดา ๆ อยู่ผืนหนึ่งที่ออฟฟิศ เขามักไปกางเสื่อนอนก่อนพระอาทิตย์ขึ้น แล้วออกไปทำงาน ... ผมไม่รู้ว่าบ้านเขาอยู่ที่ไหน แต่แน่นอนว่า ถ้าเขาไม่ทำแบบนั้น เขาต้องใช้เวลาเดินทางจากบ้านไปยังมหาวิทยาลัยนานมาก”

ดราโกวิคยังได้อีเมลหาชัชชาติ เมื่อครั้งที่เขาชนะการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. “เขาโทรหาผมทันทีเลย (หลังจากที่ผมส่งอีเมลไป)” ดราโกวิชเล่า

“ผมไม่รู้ว่าเขาไปงานรับปริญญาของลูกชายที่เมืองซีแอตเทิล เพราะผมเพิ่งไปที่นั่นมา เขาก็ไม่รู้ว่าผมอยู่ที่นั่น เพราะเขานึกว่าผมอยู่ที่รัฐแมริแลนด์ แล้วถ้าเราได้เจอกันเราก็คงอยู่ด้วยกันมากกว่านี้ เราคุยกันประมาณ 2-3 นาทีเท่านั้น”

ทางด้านอาจารย์วู้ด กล่าวปิดท้ายว่า “ในฐานะที่เป็นอาจารย์ ฉันภูมิใจมากที่ลูกศิษย์ของฉันไปทำอะไรดี ๆ ฉันภูมิใจที่เขาทำเรื่องใหม่ ๆ ในหน้าที่ใหม่นี้ และฉันอวยพรให้เขาโชคดีค่ะ”

วีโอเอติดต่อไปยังทีมงานของชัชชาติเพื่อขอทราบข้อมูลชีวิตวัยเรียนที่สหรัฐฯ ของเขา แต่ได้รับการแจ้งว่า ผู้ว่าฯ กทม. ขอไม่ให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าว

  • รายงานโดย วรรษมน อุจจรินทร์ VOA Thai