เทคโนโลยีวีอาร์ช่วยแพทย์ผ่าตัด 'แฝดตัวติดกัน' สำเร็จ

Handout photo taken on an unspecified date of conjoined twins Bernardo (L) and Arthur (R) with their parents Adriely (L) and Antonio Lima (R). (AFP PHOTO/Handout/Arthur Pereira/Fitamarela)

คณะแพทย์บราซิลประสบความสำเร็จใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง หรือ VR (Virtual Reality) เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการผ่าตัดแยกฝาแฝดที่มีศีรษะติดกัน

เทคโนโลยีเสมือนจริงหรือ VR คือการจำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริงโดยใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งผู้ใช้สามารถใช้ชุดหูฟังหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ เพื่อสัมผัสกับสภาพแวดล้อมของ VR ได้

เทคโนโลยี VR ถูกนำไปใช้โดยทีมแพทย์ในบราซิลและอังกฤษซึ่งมีส่วนร่วมในการผ่าตัดแยกฝาแฝดที่มีร่างกายติดกัน

หนูน้อยอาร์เธอร์และเบอร์นาร์โด ฝาแฝดเพศชายซึ่งเกิดในชนบททางตอนเหนือของประเทศบราซิลเมื่อปีค.ศ. 2018 โดยทั้งสองมีศีรษะที่ติดกันและใช้เนื้อเยื่อสมองร่วมกันในบางส่วน

แพทย์ในบราซิลเคยพยายามที่จะผ่าตัดแยกพวกเขาออกจากกัน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์หลาย ๆ คนก็ได้แนะนำพ่อแม่ของแฝดคู่นี้ว่าหากผ่าตัดต่อไปอีกจะเป็นการเสี่ยงเกินไป

แต่โรงพยาบาลที่ดูแลฝาแฝดทั้งสองในช่วงสองปีครึ่งที่ผ่านมาได้ตัดสินใจติดต่อองค์กรการกุศลของประเทศอังกฤษที่มอบเงินทุนและจัดหาทีมแพทย์เพื่อสนับสนุนการผ่าตัดแยกฝาแฝดออกจากกัน

องค์กรการกุศลดังกล่าวมีชื่อว่า Gemini Untwined ก่อตั้งขึ้นโดย นัวร์ อุล โอเวส จีลานี (Noor ul Owase Jeelani) ศัลยแพทย์ที่โรงพยาบาลเด็ก Great Ormond Street ในกรุงลอนดอน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการผ่าตัดแยกฝาแฝดโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝาแฝดที่มีศีรษะติดกัน

Gemini Untwined ได้ให้ความช่วยเหลือในการดำเนินการผ่าตัดแยกฝาแฝดประสบความสำเร็จหลายต่อหลายครั้งตั้งแต่เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี 2018 แต่นายแพทย์จีลานีกล่าวว่าการผ่าตัดแยกฝาแฝดอาร์เธอร์และเบอร์นาร์โดนั้น เป็นการผ่าตัดที่ยากที่สุด เนื่องจากเด็กทั้งสองใช้เส้นเลือดที่สำคัญ ๆ ร่วมกันในสมอง และเมื่ออายุได้ 4 ขวบ ฝาแฝดทั้งสองยังเป็นเด็กที่อายุมากที่สุดที่มีเนื้อเยื่อสมองที่เชื่อมต่อกันที่จะเข้ารับการผ่าตัดแยกออกจากกันด้วย

การดำเนินการผ่าตัดแยกฝาแฝดที่สถาบัน Paulo Niemeyer State Brain ที่นครริโอนั้น ใช้เวลานานและเคร่งเครียด นายแพทย์จีลานีกล่าวว่าต้องทำการผ่าตัดทั้งหมด 7 ครั้ง โดยใช้บุคลากรทางการแพทย์มากกว่า 100 คน การผ่าตัดสองครั้งสุดท้ายในเดือนมิถุนายนใช้เวลาประมาณ 33 ชั่วโมง ซึ่งการผ่าตัดครั้งนี้ประสบความสำเร็จโดยสมบูรณ์

นายแพทย์จีลานีกล่าวอีกว่า เหตุผลหลักที่ทำให้การผ่าตัดแยกฝาแฝดออกจากกันประสบความสำเร็จได้นั้น คือการใช้เทคโนโลยี VR ซ้อมการผ่าตัดเป็นเวลาหลายเดือนก่อนการผ่าตัดจริง

ทั้งนี้ คณะแพทย์ใช้ภาพสแกนสมองของหนูน้อยฝาแฝด ในการสร้างแผนที่ดิจิทัลของศีรษะและเนื้อเยื่อสมองที่ใช้ร่วมกัน จากนั้นแพทย์ได้ใช้ข้อมูลนี้ในการดำเนินการทดลองผ่าตัดหลายครั้งด้วยการใช้อุปกรณ์ VR และการผ่าตัดจำลองดังกล่าวช่วยให้แพทย์ได้ทดลองใช้วิธีการต่าง ๆ ที่เคยใช้ในการผ่าตัดจริงอีกด้วย

ปัจจุบันเทคโนโลยี VR ถูกนำมาใช้ในด้านการแพทย์หลาย ๆ ด้าน รวมถึงการผ่าตัดแยกฝาแฝดในอดีต แต่นายแพทย์จีลานีกล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกที่เทคโนโลยีดังกล่าวถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์นี้ในบราซิล และว่าการซ้อมผ่าตัดประเภทนี้ด้วยเทคโนโลยี VR เป็นการ "สร้างความมั่นใจ" สำหรับศัลยแพทย์ที่เข้าร่วมการผ่าตัด

อะดรีลี ลิมา (Adriely Lima) คุณแม่ของแฝดอาร์เธอร์และเบอร์นาร์โดแสดงความโล่งใจและความสุขของครอบครัว ในขณะที่พวกเขาตั้งตารอที่จะพาหนูน้อยฝาแฝดกลับบ้านในที่สุด เธอบอกว่าครอบครัวของเธออยู่ในโรงพยาบาลมาเป็นเวลาเกือบสี่ปีแล้ว และรู้สึกซาบซึ้งใจอย่างมากสำหรับการผ่าตัดในครั้งนี้

  • ที่มา: วีโอเอ, เอเอฟพี, PA MediaGemini, Untwined