“บราโก อิตาเลียโน” สมาชิกใหม่ของสมาคมสุนัขแห่งสหรัฐฯ

Elvira, a bracco Italiano, competes in the 24 inch class at the Masters Agility Competition during the 146th Westminster Dog Show on, June 18, 2022 in Tarrytown, N.Y. (AP Photo/Vera Nieuwenhuis, File)

สมาคมผู้เพาะพันธุ์สุนัขแห่งสหรัฐฯ หรือ American Kennel Club (AKC) ได้ประกาศเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมว่า สุนัขล่านกสายพันธุ์โบราณของอิตาลี ที่สายพันธุ์ชื่อว่า “บราโก อิตาเลียโน” คือสมาชิกอันดับที่ 200 ในรายชื่อสายพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับของทางสมาคม

นั่นหมายความว่าน้องหมาที่มีความสง่างาม ทรงพลัง แต่มีความเป็นมิตร สามารถเข้าร่วมการแสดงประกวดเเนวหน้าในสหรัฐฯ หลาย ๆ รายการได้ รวมถึงงาน Westminster Kennel Club อันทรงเกียรติที่จะมีขึ้นในปีหน้าด้วย

ทั้งนี้ บราโก อิตาเลียโน ซึ่งบางครั้งถูกเรียกว่า Italian Pointer มีประวัติเก่าแก่กว่าสองพันปีในยุโรป แต่ไม่ได้ถูกนำเข้ามาในสหรัฐฯ จนถึงช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ตามข้อมูลของ AKC

บราโก เป็นสุนัขพันธุ์ที่มีความแข็งแกร่ง และสามารถปรับตัวให้เข้ากับการล่าสัตว์ได้ทุกประเภท ไว้ใจได้ เชื่อง และฉลาด ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นมิตร ไม่ใช่สุนัขที่ขี้อายหรือก้าวร้าว ตามเกณฑ์ของ AKC สำหรับสุนัขสายพันธุ์ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่

ลิซ่า โมลเลอร์ ผู้เป็นเจ้าของและเป็นนักผสมพันธุ์น้องหมาพันธุ์นี้ ที่รัฐวิสคอนซินกล่าวว่า บราโก อิตาเลียโน เป็นพันธุ์เลี้ยงง่าย สามารถอยู่ร่วมกับคนได้ดี แต่ก็เหมือนกับสวิตช์ไฟ เมื่อถึงเวลาต้องกระโดดขึ้นท้ายรถบรรทุกเพื่อออกไปล่าสัตว์ หรือเวลาที่ต้องทำงาน พวกมันก็จะร่าเริง แจ่มใสเจิดจ้าเหมือนกับต้นคริสต์มาสเลยทีเดียว

ลิซ่าและเดลสามีของเธอใช้สุนัขพันธุ์ลาบราดอร์เป็นผู้ช่วยในการล่านกขนาดใหญ่ ก่อนที่เพื่อนของพวกเขาจะแนะนำให้รู้จักกับน้องหมาพันธุ์บราโก เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ทั้งคู่รู้สึกตื่นเต้นกับสไตล์การล่าสัตว์ในทุ่งนา และหลงรักธรรมชาติที่ชอบแสดงความรักที่บ้านของมันอีกด้วย

ลิซ่ากล่าวต่อไปอีกว่า น้องหมา บราโก จะเห่าเสียงสูง โดยเฉพาะในเวลาที่เห็นสัตว์ป่าอยู่ที่สนามหลังบ้าน ดังนั้นพวกมันอาจไม่ใช่สุนัขที่เหมาะสำหรับทุกคน

จีน่า ดินาร์โด เลขานุการบริหารของ AKC เรียกสุนัขบราโก ว่าเป็นเพื่อนที่ดีสำหรับครอบครัวที่สามารถ “มอบความรักและความเอาใจใส่ที่พวกมันต้องการ” ได้

146th Westminster Kennel Club Dog Show in Tarrytown, New York

อย่างไรก็ตาม AKC ได้เปิดทะเบียนสุนัขที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศโดยมีเพียงเก้าสายพันธุ์เท่านั้นในปี 1878 แต่ในทศวรรษที่ผ่านมาเพียงทศวรรษเดียว ทางสมาคมได้เพิ่มสุนัขมากกว่า 20 สายพันธุ์ ตั้งแต่พันธุ์รัสเชียนทอย (Russian Toy) ที่มีขนาดเล็กไปจนถึงพันธุ์โดโกอาร์เจนติโน (Dogo Argentino ) ที่ทรงพลัง โดยข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับจำนวนรวมและต้นกำเนิดของสุนัขที่ขึ้นทะเบียนทั่วประเทศนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์ และปัจจัยอื่น ๆ

The Westminster Kennel Club Dog Show Press Preview at Hudson Yards in New York

อย่างไรก็ตาม ยังมีสุนัขอีกหลายสายพันธุ์ที่ได้รับการจดทะเบียนในสมาคมอื่นที่ไม่ใช่ AKC หรือที่ยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการเลย

บรรดานักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสัตว์ติเตียนการเพาะพันธุ์สุนัข โดยกล่าวว่าการเพิ่มสายพันธุ์เข้าไปอีก ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ที่คนอยากได้สุนัขพันธุ์แท้เเค่ตามเเฟชั่นยิ่งน่ากังวลมากขึ้น และยังเป็นการส่งเสริม ธุรกิจผลิตลูกสุนัขเหมือนโรงงานสินค้า หรือ Puppy Mills ซึ่งเพาะพันธุ์สุนัขเชิงพาณิชย์โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพอีกด้วย

แต่สมาคมสุนัขแห่งสหรัฐฯ หรือ AKC กล่าวส่งท้ายว่า ทางสมาคมส่งเสริมการผสมพันธุ์อย่างมีความรับผิดชอบ โดยมีเป้าหมายที่จะรักษาลักษณะเฉพาะที่ทำให้สุนัขสามารถทำงานต่าง ๆ ได้ และช่วยให้ผู้คนมีลูกสุนัขที่พวกเขาต้องการดูแลและมอบความรักได้ง่ายขึ้น

  • ที่มา: เอพี