การได้รับชัยชนะของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งปี ค.ศ.2016 ได้ทำให้หลายครอบครัวในสหรัฐฯ เสียงแตกออกเป็นสองฝ่าย ความแตกแยกที่ว่านี้กลับร้าวลึกมากยิ่งขึ้น จากเหตุการณ์และประเด็นทางการเมืองอื่น ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการระบาดใหญ่ของโควิด-19 การถกเถียงเรื่องการปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยการครอบครองอาวุธปืน ตลอดจนเรื่องการทำแท้ง และความหลากหลายทางเพศ
ครอบครัวของคริสเชีย เลเยนเดกเกอร์ (Kristia Leyendecker) ที่อาศัยอยู่ในเมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส เป็นตัวอย่างหนึ่งของความร้าวฉานในครอบครัวที่ทำให้ฤดูร้อนนี้กำลังจะกลายเป็น "ฤดูแห่งประเด็นร้อน"
เลเยนเดกเกอร์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพีว่า ถึงแม้ว่าครอบครัวใหญ่ของเธอจะเริ่มแตกแยก หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เมื่อ 6 ปีก่อน และการเห็นต่างกันเรื่องความจำเป็นของหน้ากากอนามัยในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ครอบครัวของเธอยังคงความสนิทสนมกลมเกลียวเอาไว้ได้
อย่างไรก็ตาม จุดแตกหักเกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมา เมื่อลูกคนหนึ่งของเลเยนเดกเกอร์เริ่มกระบวนการข้ามเพศ (gender transition) ทำให้พี่ชาย พี่สะใภ้ และพี่สาวของเลเยนเดกเกอร์ประกาศตัดสัมพันธ์กับครอบครัวของเธอ ซึ่งประกอบด้วยสามีและลูกสามคน ในขณะที่แม่ของเธอนั้น ต้องตกอยู่ในสภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก
“จิตใจฉันแหลกสลาย ถ้า 5-10 ปีก่อนมีคนมาบอกฉันว่า ฉันจะถูกตัดขาดจากครอบครัว ฉันคงจะบอกว่า อย่ามาโกหกเสียให้ยาก เพราะเราเป็นครอบครัวที่สนิทกันมาก เราฉลองวันหยุดด้วยกันทุกเทศกาล เรามีเรื่องที่ต้องเศร้าโศกเสียใจมาด้วยกันนับครั้งไม่ถ้วน” เลเยนเดกเกอร์กล่าว
ตั้งแต่นั้นมา ครูมัธยมศึกษาวัย 49 ปีผู้นี้กล่าวว่า ครอบครัวใหญ่ของเธอก็ไม่ได้ไปปิกนิก นัดรับประทานอาหาร หรือไปเที่ยวด้วยกันอีกเลย ไม่มีการรวมตัวกันในเทศกาลขอบคุณพระเจ้า หรือ Thanksgiving และในวันคริสต์มาส และฤดูร้อนในปีนี้ เธอมองว่าก็คงจะไม่มีอะไรดีขึ้น
สำหรับครอบครัวอเมริกันที่แตกแยกเพราะความคิดทางการเมือง ฤดูร้อนนี้จะเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่ทำให้เกิดความอ่อนไหวและตึงเครียด จริงอยู่ว่าการระบาดของโควิด-19 ได้ทุเลาเบาบางลงแล้ว แต่ชาวอเมริกันกลับต้องมาถกเถียงกันต่อเกี่ยวกับเรื่องการควบคุมการถือครองอาวุธปืน หลังเหตุยิงกราดที่โรงเรียนประถมศึกษาในเมืองอูวัลดี รัฐเท็กซัส ไปจนถึงเรื่องสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ (reproductive rights) หรือสิทธิในการท้องและการทำแท้ง ที่ดำเนินควบคู่ไปกับการพิจารณาคดีการบุกรุกรัฐสภาสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงวันในวันที่ 6 มกราคมปีที่ผ่านมา การถกเถียงว่าใครต้องรับผิดชอบต่อภาวะเงินเฟ้อที่ทะยานไม่หยุด และประเด็นอื่น ๆ ที่พร้อมจะระอุขึ้นมาแทบทุกเมื่อ
ที่ผ่านมา ซาราห์ สจ๊วร์ต ฮอลแลนด์ (Sarah Steward Holland) และเบธ ซิลเวอรส์ (Beth Silvers) พิธีกรคู่ในรายการพอดแคสท์ชื่อดังแพนท์สูทส์ พอลิติกส์ (Pantsuit Politics) มักจะจัดสนทนาในกลุ่มเล็ก ๆ กับผู้ฟังในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว มิตรภาพ ศาสนา ชุมชน การทำงานและความสัมพันธ์ พิธีกรทั้งสองกล่าว่า ผู้ฟังหลายคนยังรู้สึกเจ็บปวดหลังจากที่พวกเขาต้องมีปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด หรือเพื่อนเพราะเห็นต่างกันเรื่องโควิด-19 บางคนพบว่าความสัมพันธ์กับครอบครัวและคนรักร้าวฉานเพราะความไม่ลงรอยทางความเห็นเรื่องโควิด-19 และในฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนมักจะได้มาเจอกันหรือรวมตัวกันอีกครั้ง ความเจ็บปวดจากการถกเถียงโต้แย้งครั้งสุดท้าย อาจจะหวนกลับมาอีกและอาจนำไปสู่การโต้แย้งรุนแรงได้
ครอบครัวของ รีดา ฮิคส์ (Reda Hicks) มีประสบการณ์เช่นเดียวกันกับญาติพี่น้องในครอบครัวใหญ่
ฮิคส์ ในวัย 41 ปี เติบโตมาในครอบครัวขนาดใหญ่ในเมืองโอเดสซา รัฐเท็กซัส ซึ่งเป็นศูนย์กลางการอุตสาหกรรมน้ำมัน ครอบครัวของเธอหัวอนุรักษ์นิยมและเลื่อมใสศรัทธาในคริสตศาสนาเป็นอย่างมาก เธอเป็นพี่ใหญ่ของพี่น้องสี่คน และยังมีลูกพี่ลูกน้องอีก 24 คน การที่เธอได้ย้ายไปเรียนในระดับอุดมศึกษาในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส และเมืองเบิร์คลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นเมืองหัวก้าวหน้าทั้งสองเมืองนั้น เป็นการเปิดโลกให้เธออย่างมาก
เมื่อเธอกลับมาอาศัยอยู่ในเมืองฮิวส์ตัน รัฐเท็กซัส เธอพบว่าเกิดความไม่ลงรอยกันในกลุ่มเพื่อนและคนในครอบครัว พวกเขาเหมือนอยู่กันในสองโลก และเลือกที่จะแสดงออกถึงความแตกต่างไม่ลงรอยนี้ทางโซเชียลมีเดียว โดยเธอกล่าวว่าแต่ละฝ่ายต่างก็ล้อเลียนฝ่ายตรงข้าม และคิดว่าอีกฝ่ายนั้นไม่มีสมอง
ฮิคส์กล่าวว่าประเด็นที่เป็นปัญหาบ่อย ๆ คือเรื่องคนเข้าเมือง และเรื่องการรักษาความปลอดภัยบริเวณชายแดน เช่นเดียวกับเรื่องสิทธิการทำแท้ง และการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของผู้หญิง นอกจากนั้นยังมีเรื่องบทบาทของคริสตจักรในรัฐ และการปฏิรูปกฎหมายควบคุมการครอบครองอาวุธปืนอีกด้วย
ประเด็นเหล่านี้ทำให้ความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวใหญ่ของเธอนั้นตึงเครียด ถึงแม้การปฏิสัมพันธ์ยังเป็นไปอย่างสุภาพ และยังมีการรวมตัวกันในช่วงสุดสัปดาห์อยู่บ่อยครั้ง ฮิคส์ไม่เคยคิดที่จะตัดขาดความสัมพันธ์กับญาติพี่น้องที่เห็นต่างจากเธอหรือมีความคิดแบบอนุรักษ์นิยม เธอและสามีเลือกที่จะโต้แย้งประเด็นที่พวกเขาเห็นต่างกันต่อหน้าลูก ๆ ที่มีอายุ 11 และ 15 ปี
เธอกล่าวว่าเธอและสามีเห็นต่างกันในหลายเรื่อง แต่ทั้งคู่มีกฎว่าจะไม่มีการต่อว่ากันเสีย ๆ หาย ๆ หากใครเกิดโทสะ หรือโมโห ก็จะยุติการโต้แย้งเพื่อให้เย็นลงกันทั้งสองฝ่าย ในขณะที่ครอบครัวใหญ่หรือญาติพี่น้องของเธอนั้น ไม่มีการตั้งกฎอะไร แต่จะเปลี่ยนหัวข้อสนทนาหากการถกเถียงนั้นรุนแรงขึ้น
แดริล แวน ทอนเกเรน (Daryl Van Tongeren) รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งวิทยาลัย Hope College ในเมืองฮอลแลนด์ รัฐมิชิแกน กล่าวว่าครอบครัวของ รีดา ฮิคส์นั้น ทำถูกแล้ว ถึงแม้ว่า “การอ่อนน้อม หรือการน้อมรับทางวัฒนธรรม” แบบที่เธอทำนั้น จะไม่ใช่เรื่องที่ครอบครัวที่แตกแยกเพราะความคิดทางการเมืองจะสามารถทำได้ง่าย ๆ
รองศาสตราจารย์ผู้นี้อธิบายว่า “การอ่อนน้อมทางวัฒนธรรม” คือเวลาที่ผู้คนได้ตระหนักว่ามุมมองทางวัฒนธรรมของพวกเขานั้นไม่ได้เหนือกว่ามุมมองของผู้อื่น และการที่บุคคลเหล่านั้นเกิดความสนใจใคร่รู้ความคิดของคนอื่น และเห็นว่าการมองประเด็นหนึ่งจากหลายมุมมองนั้นเป็นข้อดี ไม่ใช่ข้อเสีย
เขาเชื่อมั่นว่าความอ่อนน้อมถ่อมตนนี้อาจช่วยลดระยะห่างของความแตกต่างทางความคิด และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ สังคม และประเทศชาติได้
โธมัส แพลนที (Thomas Plante) ซึ่งสอนจิตวิทยาอยู่ที่มหาวิทยาลัย Santa Clara Universty ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นผู้หนึ่งที่เห็นด้วยกับหลักการอ่อนน้อมหรือการน้อมรับทางความคิดดังกล่าว โดยเขากล่าวว่าการโต้เถียงกันอย่างเผ็ดร้อนนั้น ไม่ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของฝ่ายตรงข้าม กลับมีแต่จะทำให้เกิดความตึงเครียดและทำให้อีกฝ่ายเสียความรู้สึกมากขึ้น
ส่วน คาร์ลา เบวินส์ (Carla Bevins) ผู้ช่วยสอนด้านการสื่อสารที่ Tepper School of Business แห่งมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon กล่าวว่าปัจจุบัน "ปริมาณสำรองด้านอารมณ์" ของผู้คนนั้นลดลงไปมากถึงแม้ว่าฤดูร้อนเพิ่งจะเริ่มต้น โดยถือว่าน้อยกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ ที่ปกติแล้วมักจะสร้างความตึงเครียดให้หลายครอบครัว เช่นวันขอบคุณพระเจ้าและวันคริสต์มาส
เบวินส์กล่าวว่า ตอนนี้ทุกคนอยู่ในภาวะที่เหน็ดเหนื่อย หรือมีภาวะความล้าทางจิตใจ และส่วนใหญ่ก็มักจะเตรียมส่ิงที่ตัวเองจะพูดไว้แล้ว ก่อนที่จะรับฟังสิ่งที่คนอื่นจะพูด จึงจำเป็นที่จะต้องพยายามหาสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายเห็นด้วยหรือเห็นพ้องกัน นอกจากนี้ เธอยังให้คำแนะนำด้วยว่า หากใครรู้สึกว่าไม่มีพลังเหลือพอที่จะไปถกเถียงกับคนในครอบครัวในประเด็นที่มักจะเป็นชนวนชวนทะเลาะกัน การเลือกที่จะไม่ไปเจอสมาชิกครอบครัวในบางครั้ง ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีทางเลือกหนึ่งเช่นกัน