โลกโซเชียลจัดเป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นสาธารณะที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากทั่วทุกมุมโลก ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าระบอบประชาธิปไตยในสหรัฐฯ อาจถดถอยลงเรื่อย ๆ หากไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงบนแพลตฟอร์มโซเชียลในเร็ววัน
ในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 2000 แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้ปลดล็อคขีดจำกัดของประชาชนธรรมดาในการออกความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและรวดเร็วแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างไรก็ตาม โจนาธาน ไฮด์ท์ นักจิตวิทยาสังคมและอาจารย์แห่ง New York University (NYU) ชี้ว่า ปรากฎการณ์ข้างต้นไม่ได้ให้เสียงประชาชนอย่างเท่าเทียมกันจริง
เขากล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2009 “คนเพียง 4 กลุ่มเท่านั้นที่สามารถตักตวงผลประโยชน์จากโซเชียลมีเดียได้ ได้แก่ ผู้ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแบบขวาสุด ซ้ายสุด ผู้ชอบก่อกวน (trolls) และหน่วยข่าวกรองของรัฐบาลรัสเซีย แต่ในขณะเดียวกัน ราว 80% ของชาวอเมริกันกลับรู้สึกว่าพวกเขาถูกข่มขู่และถูกโจมตีบนโลกออนไลน์จึงเลือกที่จะแสดงความคิดเห็นน้อยลง”
อาจารย์ผู้นี้กล่าวเสริมว่า ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มักมีรากฐานจากสถาบันการเมืองที่มั่นคง การถ่ายทอดเรื่องราวร่วมกัน เครือข่ายที่กว้างขวางในสังคม และความเชื่อใจที่สูง แต่โซเชียลมีเดียกลับทำให้องค์ประกอบสำคัญเหล่านี้อ่อนแอ เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงจากความชะวักงันทางประชาธิปไตยในช่วงต้นทศวรรษ 2010 กลายเป็นวัฒนธรรมการโจมตีด้วยถ้อยคำและสาดโคลนกันอย่างเต็มรูปแบบตลอดเวลาเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ขึ้น จนทำให้สหรัฐฯมีระบอบประชาธิปไตยที่ไม่แข็งแกร่งและขาดความน่าเชื่อถือ คล้าย ๆ กับประเทศในแถบละตินอเมริกา
ตามความเห็นของอาจารย์ไฮด์ท์ สิ่งที่จะยับยั้งการถดถอยของระบอบประชาธิปไตยในสหรัฐฯ จะเกิดขึ้นได้ด้วยการเปลี่ยนองค์ประกอบทางสังคมสองประการ
ประการที่หนึ่ง คือ การปรับรูปแบบการเลือกตั้งขั้นต้นให้เน้นไปที่ตัวบุคคล (open primaries) แทนที่จะเป็นการเลือกตั้งที่เน้นไปที่พรรค (partisan primaries) เพราะนักการเมืองจากสองพรรคหลักมักได้รับคะแนนเสียงจากกลุ่มที่เห็นสุดโต่งในพรรคของตนเอง และมีการจัดอันดับผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 4 อันดับแรกให้เข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งวิธีนี้กำลังถูกนำมาใช้ที่รัฐอะแลสกา
อีกประการหนึ่ง คือ การทำให้โซเชียลมีเดียเป็นสถานที่ที่บ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยน้อยลง ด้วยการออกกฎให้ผู้ใช้งานยืนยันตัวเอง โดยอาจไม่จำเป็นต้องเปิดเผยชื่อจริง แต่อย่างน้อย ควรระบุว่าบัญชีมีผู้ใช้งานจริงและมาจากประเทศอะไร
เพราะปัจจุบัน อาจารย์ไฮด์ท์กล่าวว่า ใครก็ได้ รวมทั้ง รัฐบาลรัสเซีย สามารถสร้างบัญชีจำนวนมหาศาลต่อวันได้ ซึ่งบัญชีเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกระงับใช้และเจ้าของบัญชีจะทำกิจกรรมอะไรต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ก็ได้ พื้นที่สาธารณะในโลกออนไลน์จึงกลายเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยบุคคลที่หลอกลวงและมุ่งร้ายต่อคนอื่น
แซมมวล แอบรัมส์ อาจารย์รัฐศาสตร์แห่ง Sarah Lawrence College ในรัฐนิวยอร์ก เห็นด้วยว่า สื่อโซเชียลนั้นได้สร้างผลกระทบทางลบต่อความเป็นประชาธิปไตย โดยเขาให้เหตุผลว่า โลกออนไลน์อันตรายและเพิ่มความแตกแยกในสังคม เนื่องจากมุมมองหลัก ๆ ในโลกโซเชียลมีเพียงไม่กี่มุม ผู้ใช้งานจึงไม่มีโอกาสเท่าที่ควรในการรับฟังความเห็นที่แตกต่างจากอีกฝ่าย
ทั้งนี้ ทางแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดังอย่างทวิตเตอร์ออกมาชี้แจงว่า ขณะนี้ บริษัทกำลังพยายามต่อต้านบัญชีปลอมและการกระจายข้อมูลเท็จ
โดยเมื่อเดือนที่ผ่านมา ปารัก อักราวัล ซีอีโอของทวิตเตอร์ ประกาศว่า ได้ทำการระงับบัญชีสแปมราวครึ่งล้านบัญชีต่อวันและบัญชีปลอมหลายล้านบัญชีต่อสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง ส่วนเฟซบุ๊กนั้นได้ระงับบัญชีปลอมถึง 1,600 ล้านบัญชีในไตรมาสแรกของปีนี้แล้ว
อย่างไรก็ตาม แอบรัมส์ อาจารย์รัฐศาสตร์แห่ง Sarah Lawrence College กล่าวว่า ยังคงมีความหวังอยู่ เขายกตัวอย่างจากนักเรียนในชั้นเรียนของเขาเมื่อ 15 ปีก่อนที่แสดงความเห็นต่างและจุดยืนที่แตกแยกทางการเมืองอย่างชัดเจน แต่ปรากฎการณ์ข้างต้นได้ลดน้อยลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตามการสังเกตของอาจารย์ผู้นี้ เนื่องจากกลุ่ม “เจน-ซี” (Generation Z) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เกิดช่วงปี 1997 - 2012 ไม่ชอบมุมมองที่สุดโต่ง ไม่ว่าจะนักเรียนเหล่านี้จะสนับสนุนความคิดแบบซ้ายหรือขวาก็ตาม นักเรียนยุคใหม่มักจะเป็นกลางและพยายามหาประเด็นที่คิดเหมือนกันได้
อาจารย์แอบรัมส์สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากความแตกแยกที่รุนแรงในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เด็ก ๆ เหล่านี้ต้องเผชิญ พวกเขาจึงไม่ต้องการสิ่งนั้นนั่นเอง
- ที่มา: วีโอเอ