รถไฟความเร็วสูงของจีนขยายสู่ “ยูเรเชีย” รองรับความท้าทายด้านการขนส่ง

FILE - A train bound for Duisburg, Germany, carrying containers departs from Wuhan as China-Europe Railway Express service resumes in Wuhan, Hubei province, then the epicenter of China's COVID-19 outbreak, March 28, 2020.

นักวิเคราะห์ชี้ว่า การที่ประเทศจีนผลักดันให้มีการพัฒนารถไฟความเร็วสูงทั่วทวีปยูเรเชีย จะช่วยฐานการผลิตในเรื่องการขนส่งสินค้าทั้งสองฟาก แต่ว่าสิ่งนี้จะสร้างแรงกดดันอย่างมหาศาลต่อระบบห่วงโซ่อุปทานด้วยเช่นกัน

อ้างอิงตามข้อมูลจากเว็บไซต์ Financial News ที่ได้รับการสนับสนุนจากทางการจีน ระบุว่ารถไฟขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างจีนและต่างประเทศอยู่ในการพัฒนาปรับปรุง ภายหลังจากเดือนธันวาคม ได้รับการอนุมัติงบประมาณจากธนาคาร China Development Bank โดยธนาคารจะให้ความช่วยเหลือด้านการเงินใน “องค์ประกอบสำคัญ” ซึ่งรวมถึง คลังสินค้า เขตบริการลอจิสติกส์ เครือข่ายการกระจายสินค้า รวมไปถึงการขนส่งต่อเนื่องในรูปแบบที่ผสมผสาน

รถไฟความเร็วสูงเส้นทางจีนยุโรป (China-Europe Railway Express) เป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนที่มีระยะทาง 12,000 กิโลเมตร ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การพัฒนาครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อทำให้รถไฟวิ่งได้เร็วขึ้น และเพิ่มเส้นทางการเดินรถ จากเส้นทางเดิมที่มีอายุราว 11 ปี การปรับปรุงดังกล่าวจะช่วยรับประกันได้ว่ารถไฟจะสามารถดำเนินการได้เป็นปกติ แม้จะเกิดสงครามในประเทศยูเครน และต้องเผชิญการขนส่งทางเรือที่แออัด อันเป็นผลพวงมาจากการระบาดใหญ่ ซึ่งหมายความว่าประเทศจีนจะสามารถส่งออกไปยังตลาดยุโรปได้อย่างราบรื่น และยังสามารถเข้าถึงทรัพยากรจากทางยุโรปได้เช่นกัน

เจมส์ เบิร์กลีย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษา Ellice Consulting จากกรุงลอนดอน อธิบายว่า การปิดเมืองจากการระบาดของโควิด-19 และผลพวงจากสงครามในยูเครน ทั้งสองปัจจัยสร้างความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่จำความได้ ในการแลกเปลี่ยนภายใต้ระบบห่วงโซ่อุปทานของจีน และกล่าวเสริมว่า แม้ว่าการขนส่งทางทะเลยังสามารถทำได้อยู่ แต่อีกทางเลือกที่เห็นได้ชัด คือการขนส่งทางรถไฟ

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ระบบห่วงโซ่อุปทานเกิดความระส่ำ เมื่อประเทศจีนประกาศล็อคดาวน์เมืองเซินเจิ้นในเดือนมีนาคม และที่นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีประชากรราว 26 ล้านคนในไม่กี่สัปดาห์ถัดมา โดยทั้งสองเมืองนี้ถือว่าเป็นศูนย์กลางด้านการค้าที่สำคัญ และการปิดเมืองใหญ่ทั้งสองได้ทำให้การขนส่งสินค้าถูกกระทบในหลายอุตสาหกรรม ทั้งโทรศัพท์ วัสดุก่อสร้าง รวมไปถึงยานยนต์ ส่วนการที่รัสเซียบุกยูเครนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้เส้นทางเดินรถไฟข้ามทวีปบางส่วนเผชิญภาวะชะงักงัน จนทำให้การขนส่งในยุโรปเกิดความล่าช้า

SEE ALSO: นโยบายคุมโควิดเป็นศูนย์ของจีน กระทบห่วงโซ่อุปทานด้านการเกษตร

Financial News ระบุว่า การพัฒนาเส้นทางรถไฟที่เกิดขึ้นนี้ สอดคล้องกับโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งถนน” หรือว่า โครงการ “Belt and Road Initiative” ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน โดยโครงกล่าวดังกล่าวเริ่มมาแล้วราว 8 ปี ภายใต้งบประมาณ 4 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเส้นทางการค้าในหลายประเทศ

หลิว เพ็งหยู โฆษกสถานฑูตจีนประจำกรุงวอชิงตัน เปิดเผยว่า ในเดือนมกราคม รถไฟความเร็วสูงเส้นทางจีน-ยุโรป มีจำนวนมากกว่า 50,000 ขบวน ซึ่งส่งผลเชิงบวกต่อการพัฒนาโครงการ หนึ่งแถบ หนึ่งถนน และให้รายละเอียดเพิ่มว่า นับตั้งแต่เกิดวิฤตการณ์ในยูเครน รถไฟความเร็วสูงเส้นทางจีนยุโรป ประสบปัญหาเพียงระยะสั้น ๆ เท่านั้น และในภาพรวมยังสามารถควบคุมความเสี่ยงในภาคปฏิบัติได้

หนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี ของรัฐบาลจีน รายงานว่า การขนส่งด้วยรถไฟเส้นทางจีนและยุโรปดำเนินการด้วยความราบรื่นและมีเสถียรภาพ รวมทั้งมีจำนวนเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายน โดยได้อ้างอิงตัวเลขจากคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีนที่ชี้ว่า จำนวนการเดินรถในเดือนเมษายนอยู่ที่ 1,170 เที่ยว หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นเดือนละ 3% ซึ่งในปีที่ผ่านมามีการเดินรถไฟทั้งสิ้น 15,183 เที่ยวในเส้นทางดังกล่าว

ข้อมูลจากรัฐบาลของกลุ่มประเทศยุโรป ชี้ว่า ในปีที่ผ่านมา การส่งออกของสหภาพยุโรปไปยังจีน แตะระดับสูงสุดที่มูลค่า 239,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่การนำเข้าจากจีนมีมูลค่าสูงถึง 506,000 ล้านดอลลาร์

ทางด้านนักวิชาการอย่าง เฉิน ยี่ฟ่าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการฑูตและรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Tamkang University ในไต้หวัน ให้ทัศนะว่า สิ่งนี้คือหนึ่งในทางเลือกของจีน ในการทำให้มั่นใจว่าจะสามารถรักษาสินค้าต่าง ๆ และในท้ายที่สุด จีนจะสามารถเชื่อมทั้งรัสเซียและทวีปยุโรปเข้าด้วยกัน ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการควบคุมพื้นที่ใจกลางเอาไว้ได้เป็นอย่างดี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ท่านนี้ยังกล่าวเพิ่มว่า ทางยุโรปคงมองเห็นความทะเยอทะยานของจีนที่ถือเป็นโอกาสในการพัฒนาระบบรถไฟของตนเอง

ระหว่างที่เกิดสงคราม ทางจีนยังคงรักษาสัมพันธภาพไว้ ทั้งรัสเซียและยูเครน อลิเซีย การ์เซีย เฮอเรโร หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากธนาคารด้านการลงทุน Natixis ของฝรั่งเศส ให้มุมมองว่า จีนจะเดินหน้าเต็มกำลัง เริ่มต้นด้วยการให้รัสเซียเปิดทางก่อน หลังจากนั้นอาจจะเป็นยูเครน

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์คนดังกล่าวเชื่อว่า ทางการจีนอาจต้องเผชิญอุปสรรคเมื่อขยายทางรถไฟเข้าไปยังพรมแดนของยุโรปตะวันตก ที่ซึ่งกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมอาจจะสร้างความลำบากในประเด็นนี้

  • ที่มา: วีโอเอ