รู้จัก 'ฝีดาษลิง' เกิดจากอะไร? ระบาดที่ไหนบ้าง?

เมื่อเร็วๆ นี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของยุโรปและสหรัฐฯ ได้พบผู้ติดเชื้อ monkeypox หรือ ฝีดาษลิง หลายราย ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในชายหนุ่ม

เรื่องดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วโลกวิตกกังวล เนื่องจากโรคนี้มักระบาดอยู่ในแอฟริกาและไม่พบในพื้นที่อื่นบ่อยนัก

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระหว่างประเทศกล่าวว่า แม้ว่าความเสี่ยงที่ประชากรทั่ว ๆ ไปจะติดเชื้อนี้ยังมีน้อย แต่พวกเขาก็ต้องคอยจับตาดูหากมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ เพราะครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่โรคนี้แพร่ระบาดอยู่ในหมู่คนที่ไม่ได้เดินทางไปยังแอฟริกา

ฝีดาษลิง คืออะไร?

Monkeypox หรือ ฝีดาษลิง เป็นเชื้อไวรัสจากลิงที่ถูกพบเป็นครั้งแรกในปี 1958 และได้แพร่ระบาดอยู่ในสัตว์ป่าและบางครั้งก็แพร่ระบาดไปสู่มนุษย์ด้วย

ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะอยู่ทางตอนกลางและทางฝั่งตะวันตกของแอฟริกา ซึ่งโรคนี้เป็นโรคระบาดในท้องถิ่น การติดเชื้อในมนุษย์ถูกพบเป็นครั้งแรกในปี 1970 ในเด็กชายอายุ 9 ขวบที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลของประเทศคองโก

โรคฝีดาษลิง อยู่ในตระกูลไวรัสเดียวกันกับไข้ทรพิษ หรือโรคฝีดาษในมนุษย์ แต่มีอาการไม่รุนแรงนัก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย หนาวสั่น และเหนื่อยล้าเท่านั้น ส่วนผู้ป่วยที่อาการหนักมากอาจจะมีผื่นขึ้นและมีรอยบาดที่ใบหน้าและมือ ซึ่งสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้

ไวรัสดังกล่าวจะพัฒนาในร่างกายมนุษย์ตั้งแต่ประมาณ 5 วันถึง 3 สัปดาห์หลังการติดเชื้อ คนส่วนใหญ่จะสามารถฟื้นตัวภายในเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ในอัตราส่วน 1 ใน 10 คน และดาดว่าอาการของโรคนี้จะรุนแรงกว่าในหมู่เด็ก

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งยุโรป (European Center for Disease Prevention and Control) กล่าวว่า ผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อควรกักตัว ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากสัมผัสจับต้องกับผู้ติดเชื้อ ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ หรือโรคฝีดาษ

ฝีดาษลิงระบาดไปที่ไหนบ้าง?

องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดคะเนว่าทุก ๆ ปีมีผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงหลายพันรายในหลาย ๆ ประเทศในแอฟริกา โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศคองโก ซึ่งมีรายงานผู้ติดเชื้อปีละ 6,000 ราย และที่ไนจีเรียซึ่งมีผู้ติดเชื้อปีละประมาณ 3,000 ราย ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้เนื่องจากการรายงานที่ไม่คงเส้นคงวาในประเทศต่าง ๆ

นอกจากนี้ ในบางครั้งยังมีรายงานผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงนอกแอฟริกา ซึ่งรวมถึงในสหรัฐฯ และอังกฤษ โดยปกติแล้วการติดเชื้อดังกล่าวนี้มักเชื่อมโยงกับการเดินทางไปแอฟริกาหรือมีการสัมผัสจับต้องกับสัตว์ที่มาจากพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้

ในปี 2003 มีผู้ป่วย 47 รายในสหรัฐฯ ที่ได้รับการยืนยันหรือน่าจะเป็นไปได้ว่าเป็นโรคฝีดาษลิง โดยพวกเขาได้รับเชื้อไวรัสจาก “แพร์รี่ด็อก” ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีลักษณะคล้ายกับหนูที่ติดเชื้อมาสัตว์ขนาดเล็ก ๆ ที่นำเข้ามาจากประเทศกานา

อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่โรคฝีดาษลิงแพร่ระบาดในหมู่คนที่ไม่ได้เดินทางไปแอฟริกา ซึ่งการติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดขึ้นในหมู่ชายรักร่วมเพศ

ที่ยุโรป มีรายงานการติดเชื้อในประเทศอังกฤษ อิตาลี โปรตุเกส สเปน และสวีเดน

ติดต่อกันได้อย่างไร ง่ายแค่ไหน?

แม้ว่าจะไม่ได้มีการบันทึกไว้ว่าโรคฝีดาษลิงแพร่ระบาดโดยการมีเพศสัมพันธ์ แต่ก็สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ของเหลวในร่างกาย และเสื้อผ้าหรือผ้าปูที่นอนได้

ไมเคิล สกินเนอร์ (Michael Skinner) นักไวรัสวิทยาที่ Imperial College ในกรุงลอนดอน บอกกับเอพีว่า ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่า ชายหลายคนในอังกฤษติดเชื้อได้อย่างไร แต่โดยธรรมชาติแล้ว กิจกรรมทางเพศที่มีการสัมผัสใกล้ชิดนั้น คาดว่าจะทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อได้มากขึ้น

จิมมี่ วิธเวิร์ธ (Jimmy Whitworth) ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศที่ London School of Hygiene and Tropical Medicine บอกกับรอยเตอร์ว่า การติดเชื้อฝีดาษลิงรายใหม่ ๆ นั้น มีความผิดปกติอย่างมาก แต่ก็แนะนำว่าไม่ต้องเป็นกังวล

และถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วประเทศเหมือนโควิด แต่ก็เป็นการแพร่ระบาดของโรคที่ร้ายแรง ดังนั้นควรหาทางรับมือกับปัญหานี้อย่างจริงจัง

  • ที่มา: เอพี