ทำความรู้จักช้าง “แฮปปี้” ที่นิวยอร์ก หัวใจของคดีสิทธิสัตว์ในอเมริกา

Bronx Zoo Elephant Lawsuit

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ของรัฐนิวยอร์กได้เริ่มการพิจารณาประเด็นร้อนซึ่งเป็นคดีระหว่างองค์กรพิทักษ์สัตว์ the Nonhuman Rights Project (NRP) กับสวนสัตว์ Bronx Zoo ในนครนิวยอร์ก ถึงเรื่องการขยายสิทธิพื้นฐานของพลเมืองไปยังสัตว์ โดยประเด็นร้อนนี้มีช้างสายพันธุ์เอเชียชื่อที่ว่า “แฮปปี้” เป็นหัวใจของคดี

องค์กรพิทักษ์สัตว์ข้างต้นเรียกพื้นที่อาศัยในสวนสัตว์ของช้างเชือกดังกล่าวว่า ‘คุกขนาด 1 เอเคอร์’ และต้องการให้ช้างเชือกนี้ได้รับการย้ายออกไปยังสถานอนุรักษ์ที่มีขนาดใหญ่ พร้อมกล่าวว่า “แฮปปี้” ควรมีอิสระและสิทธิ์ความเป็นมนุษย์ เพราะสามารถตัดสินใจได้ว่าจะใช้ชีวิตและปกครองดูเเลตนเองอย่างไร (autonomous) และมีไหวพริบทางความคิด จึงควรได้รับพิจารณาว่ามี “ความเป็นคน” ด้วยเช่นกัน

แต่สวนสัตว์ Bronx Zoo แย้งกลับผ่านทนายว่า ช้างเชือกนี้ไม่ได้ถูกกักขังอย่างไม่ถูกกฎหมาย หรือเป็นคนแต่อย่างใด สวนสัตว์กล่าวว่า “แฮปปี้”เป็นช้างที่ได้รับการดูแลอย่างดี และได้รับความรักและการให้เกียรติจากทุกคนว่า เป็นสัตว์ที่มีความยิ่งใหญ่และงดงาม

โมนิกา มิลเลอร์ ทนายองค์กรพิทักษ์สัตว์ NRP กล่าวว่า “แฮปปี้”ผ่านการทดสอบถึงการรับรู้การมีตัวตน (self-awareness indicator test) ในปี 2005 ด้วยการมองกระจกและใช้หัวดันเพื่อกดปุ่ม X ซำ้ๆ

NRP บอกด้วยว่า “แฮปปี้” ยัง “มีความต้องการที่จะตัดสินว่าอยากจะไปไหน อยากจะอยู่กับใคร อยากจะทำไร หรืออยากจะกินอะไร ซึ่งสวนสัตว์กำลังห้ามช้างเชือกนี้ในการตัดสินใจในสิ่งข้างต้นอยู่”

Bronx Zoo Elephant-Lawsuit

“แฮปปี้” เป็นช้างที่เกิดในป่าในแถบเอเชียและถูกนำมาที่สหรัฐฯตอนอายุ 1 ขวบ ซึ่งนับรวมแล้ว ช้างเชือกนี้อาศัยอยู่ในสวนสัตว์ Bronx Zoo มานานถึง 45 ปี โดยศาลอุทธรณ์ของรัฐนิวยอร์กกำลังไตร่ตรองว่า “แฮปปี้” ควรได้รับการปล่อยตัวด้วยกระบวนการ habeas corpus ซึ่งก็คือหมายเรียกตัวผู้ที่ถูกกุมขังมายังศาล เพื่อพิจารณาว่าถูกกักขังโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

ทางด้านสวนสัตว์ Bronx Zoo กล่าวในแถลงการณ์ว่า การสู้คดีครั้งนี้ของ NRP เป็นการพยายามใช้สุขภาพและไหวพริบที่ดีของ “แฮปปี้” มาเป็นเครื่องมือเพื่อให้ตอบรับกับสิ่งที่องค์กรต้องการเท่านั้น นอกจากนี้ สวนสัตว์ยังแจ้งว่า“แฮปปี้” มีพฤติกรรมตามธรรมชาติเหมือนช้างอีกเชือกในสวนสัตว์ ซึ่งรวมถึงการว่ายน้ำ และ การออกเดินหาอาหารด้วย

เคนเนธ แมนนิ่ง ทนายของผู้ดูแลสวนสัตว์และสมาคม Wildlife Conservation Society ถามผู้พิพากษาว่า หากต้องมีการร่างและมอบสิทธิ์ต่าง ๆ ให้แก่สัตว์ที่เคยไม่มีสิทธิ์เลย การทำเช่นนี้ควรเกิดขึ้นในสภาหรือไม่

พร้อมชี้ว่า หากองค์กร NRP ชนะคดี ผลลัพธ์ที่ตามมา คือ การเปิดประเด็นทางด้านกฎหมายถึงสิทธิ์สัตว์อื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในสวนสัตว์ รวมทั้งสัตว์เลี้ยงด้วย

แต่ทนายของ NRP กล่าวว่า ไม่ว่า “แฮปปี้” จะได้รับการเลี้ยงดูดีแค่ไหน แต่อิสรภาพทางร่างกายของช้างเชือกนี้กำลังถูกละเมิดไป ดังนั้น การตัดสินจากศาลภายใต้ habeas corpus ว่า “แฮปปี้” เป็นมนุษย์และมีสิทธิ์เหมือนคน ช้างเชือกนี้จึงจะถูกปล่อยตัวได้

ผู้พิพากษา เจนนี่ ริเวร่า ถามทนายของฝั่ง NRP ด้วยว่า การกักขังสุนัขเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำหรือไม่ เพราะสุนัขนั้นสามารถจำคำศัพท์ได้เช่นกัน

ที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นตัดสินให้องค์กร NRP แพ้คดีนี้ไป และคดีข้างต้นเป็นหนึ่งในหลาย ๆ คดี รวมถึง การขอสิทธิ์มนุษย์ให้ลิงชิมแปนซีในรัฐนิวยอร์ก ที่องค์กรดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จในชั้นศาลด้วย

An elephant named Happy is pictured in the Bronx Zoo, in New York City

ในหนังสือ “Friend-of-the-court Brief” ซึ่งเป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นโดยบุคคลหรือองค์กรที่ไม่ใช่คู่ความในคดี แต่สมัครใจให้ความเห็นเพื่อประโยชน์ในการตัดสินคดี หน่วยงาน the New York Farm Bureau และองค์กรเกษตรกรรมหลายๆแห่งตำหนิถึงทฤษฎีของความเป็นมนุษย์ที่ NRP โต้แย้ง เพราะความคิดเห็นแบบดังกล่าวจะเหมารวมสุกร วัว และไก่ ด้วย

ทางด้านสถาบันวิจัย National Association for Biomedical Research ชี้ว่า การอนุมัติคำร้องในนามของสัตว์เช่นนี้ จะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการทำวิจัยที่สำคัญต่าง ๆ พุ่งสูงขึ้น ส่วนสมาคมผู้แทนสัตวแพทย์ทั้งในระดับรัฐและทั่วประเทศได้ยื่นหลักฐานการสรุปที่ระบุว่า การฟ้องร้องของ NRP สนับสนุนและให้ความสำคัญต่อสิทธิ์สัตว์มากกว่าสวัสดิภาพของสัตว์

อย่างไรก็ตาม ผู้สนับสนุนองค์กร NRP รวมทั้งผู้มีชื่อเสียง อย่าง ลอว์เรนซ์ ไทรป์ อาจารย์ด้านกฎหมายมหาวิทยาลัย Harvard กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นโอกาสของสังคมที่จะพัฒนาการปฏิบัติต่อสัตว์ให้ชอบธรรมขึ้น

สำนักข่าวเอพีคาดว่า ศาลจะให้คำตัดสินในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่ แกรี่ แฟรนควัน อาจารย์ด้านกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัย Rutgers ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีเตือนว่า การตัดสินของศาลอย่างเดียวที่ประกาศการเปลี่ยนสถานะสัตว์ให้เป็นคนได้นั้น ไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนความคิดและการปฏิบัติทางด้านวัฒนธรรมต่อสัตว์ของคนส่วนมากในสังคมได้

  • ที่มา: เอพี