สถานะความเป็นกลางทางทหารและทางการเมืองของสวิตเซอร์แลนด์ กำลังเจอบททดสอบสำคัญครั้งใหญ่ในรอบหลายทศวรรษ เมื่อกระทรวงกลาโหมสวิตเซอร์แลนด์มีท่าทีใกล้ชิดกับมหาอำนาจทางทหารของตะวันตกมากขึ้นเพื่อตอบโต้การรุกรานยูเครนของรัสเซีย ซึ่งสร้างความสั่นคลอนให้กับหลายประเทศที่เป็นกลางในยุโรปในช่วงที่ผ่านมา
ทางกระทรวงกลาโหมสวิตเซอร์แลนด์ เดินหน้าจัดทำรายงานด้านความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเปิดทางเลือกต่าง ๆ ที่รวมถึงการร่วมซ้อมรบกับประเทศสมาชิกองค์การนาโต้ รวมทั้งการสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับยูเครน อ้างอิงจากการเปิดเผยของ Paelvi Pulli หัวหน้าฝ่ายนโยบายด้านความมั่นคงของกระทรวงกลาโหมสวิตเซอร์แลนด์กับสำนักข่าวรอยเตอร์
ทางเลือกต่าง ๆ ด้านความมั่นคงของประเทศ ในรายงานซึ่งไม่ได้รับการเปิดเผยมาก่อน ยังได้ระบุถึงการประชุมหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสวิตเซอร์แลนด์และนาโต้ด้วยเช่นกัน และยังอยู่ระหว่างการหารือกับรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์
หัวหน้าฝ่ายนโยบายด้านความมั่นคงของกระทรวงกลาโหมสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวในสวิตเซอร์แลนด์ว่า ท้ายที่สุดแล้ว อาจมีการเปลี่ยนแปลงหนทางที่ความเป็นกลางจะได้รับการตีความ และรัฐมนตรีกลาโหมสวิตเซอร์แลนด์ Viola Amherd กล่าวก่อนภารกิจเยือนกรุงวอชิงตันของในสัปดาห์นี้ว่า สวิตเซอร์แลนด์ควรทำงานร่วมกันใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับนาโต้ แต่ไม่ได้หมายถึงการเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต้แต่อย่างใด
Pulli เสริมว่า การที่สวิตเซอร์แลนด์แสดงบทบาทท่าทีที่เป็นกลางด้านการทหารและการเมืองมาตั้งแต่หลังสิ้นสุดสงครามโลกนั้น ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการดำรงแนวทางเป็นกลาง แต่เพื่อเป้าหมายในการเพิ่มความมั่นคงปลอดภัยให้กับประเทศ
ในการขยับโน้มเอียงเข้าใกล้นาโต้นี้ จะเป็นการก้าวออกจากสถานะความเป็นกลางและไม่เลือกข้างของสวิตเซอร์แลนด์ ที่บรรดาผู้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวมองว่า ได้ช่วยส่งเสริมให้สวิตเซอร์แลนด์ประสบความสำเร็จท่ามกลางสันติภาพ ทั้งยังรักษาบทบาทพิเศษในการเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยหารือระหว่างประเทศคู่บาดหมางกัน ซึ่งเคยเกิดขึ้นในยุคสงครามเย็นด้วย
ทั้งนี้ สวิตเซอร์แลนด์ได้หยิบยกแนวคิดเรื่องการเป็นสมาชิกองค์การนาโต้อย่างเต็มตัวเข้ามาหารือ หลังจากสวีเดนและฟินแลนด์ซึ่งเป็นประเทศในยุโรปที่ดำรงตนเป็นกลางมายาวนานตัดสินใจที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต้ แต่ทางหัวหน้าฝ่ายนโยบายด้านความมั่นคงของกระทรวงกลาโหมสวิตเซอร์แลนด์ เห็นว่าในรายงานฉบับนี้ไม่น่าจะแนะนำให้สวิตเซอร์แลนด์เจริญรอยตามเส้นทางดังกล่าวได้
ทั้งนี้ รายงานด้านความมั่นคงของสวิตเซอร์แลนด์จะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกันยายนนี้ และจะเข้าสู่การพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีสวิตเซอร์แลนด์ในโอกาสต่อไป เพื่อเป็นพื้นฐานในการพิจารณาทิศทางของนโยบายด้านความมั่นคงของประเทศในอนาคต
นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหมสวิตเซอร์แลนด์จะจัดทำการสำรวจเพิ่มเติมร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อพิจารณาถึงมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ การสนับสนุนด้านอาวุธ การจัดส่งอาวุธ และความสัมพันธ์กับนาโต้บนพื้นฐานของการรักษาความเป็นกลางต่อไป
ประเด็นถกเถียงเรื่อง ‘ความเป็นกลาง’ ของสวิตเซอร์แลนด์
สวิตเซอร์แลนด์ ไม่เคยเข้าร่วมสงครามระหว่างประเทศใด ๆ มาตั้งแต่ ค.ศ. 1818 เมื่อสวิตเซอร์แลนด์ดำรงสถานะความเป็นกลางมาตั้งแต่สิ้นสุดการปฏิวัติฝรั่งเศส
ภายใต้อนุสัญญากรุงเฮก ค.ศ. 1907 กำหนดว่าสวิตเซอร์แลนด์จะไม่เข้าร่วมในความขัดแย้งทางอาวุธระหว่างประเทศ ไม่สนับสนุนฝ่ายที่ทำสงครามด้วยกองกำลังหรืออาวุธยุทโธปกรณ์ หรือทำให้ดินแดนของตนเข้าถึงฝ่ายที่ทำสงครามได้
การรักษาความเป็นกลางของสวิตเซอร์แลนด์อยู่ในรัฐธรรมนูญของประเทศ ซึ่งอนุญาตให้สวิตเซอร์แลนด์มีสิทธิในการป้องกันตัวเอง และมีขอบเขตในการตีความแง่มุมทางการเมืองสำหรับแนวคิดที่ไม่ครอบคลุมในคำจำกัดความทางกฎหมายได้ ก่อนที่ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1990 หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต สวิสเซอร์แลนด์ได้เปิดทางให้มีการดำเนินนโยบายต่างประเทศ บนพื้นฐานความร่วมมือกับประเทศอื่น ในด้านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและในภาวะภัยพิบัติต่าง ๆ ได้
และในช่วงวิกฤตยูเครนที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ ได้จุดประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับการตัดสินใจของรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ ในการดำเนินมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย แต่ไม่ได้กล่าวถึงการอนุญาตให้จัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ยูเครนแต่อย่างใด
ในทัศนะของ Pulli เห็นว่า เรื่องนี้ได้สร้างความยากลำบากแก่สวิสเซอร์แลนด์ที่ไม่สามารถส่งความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ยูเครนได้ แต่สวิสเซอร์แลนด์มีทางเลือกในการสนับสนุนอาวุธให้แก่ชาติอื่นๆ เพื่อทดแทนส่วนที่จัดส่งไปให้กับยูเครนได้
ประธานาธิบดีสวิตเซอร์แลนด์อิกนาซิโอ กัสซิส ได้ตัดแนวทางจัดส่งอาวุธให้กับประเทศที่สามเพื่อช่วยเหลือยูเครน แต่เปิดทางความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ และว่าความเป็นกลางไม่ใช่ความเชื่อ และความล้มเหลวในการตอบโต้ด้วยมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียนั้นอาจกลายเป็นเครื่องมือของผู้รุกรานได้
แรงสนับสนุนนาโต้ที่เพิ่มขึ้น
ในแง่มุมของกองทัพสวิตเซอร์แลนด์นั้น สนับสนุนความร่วมมือกับนาโต้ที่มากขึ้น เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านกลาโหมของประเทศ โดยเมื่อปีที่แล้ว สวิตเซอร์แลนด์ตัดสินใจสั่งซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35A ของบริษัทล็อคฮีดมาร์ติน ซึ่งบางประเทศสมาชิกนาโต้ใช้อยู่ โดยรัฐมนตรีกลาโหมสวิตเซอร์แลนด์กล่าวว่า สวิตเซอร์แลนด์ไม่สามารถเข้าร่วมนาโต้ได้เพราะความเป็นกลางของประเทศ แต่สามารถทำงานร่วมกันได้และระบบการจัดซื้อนี้อยู่บนพื้นฐานความร่วมมือที่ดีระหว่างกัน
อีกมาตรการที่อยู่ระหว่างการพิจารณานี้ อาจเป็นการสานสัมพันธ์กับประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหประชาชาติจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 2002 และเป็นประเทศที่ผลิตอาวุธได้เอง
ในเรื่องนี้ วลาดิเมียร์ โคคล็อฟ โฆษกสถานทูตรัสเซียประจำกรุงเบิร์น กล่าวว่ามาตรการนี้อาจเท่ากับการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์ และรัสเซีย “ไม่สามารถเพิกเฉย” ต่อการสละความเป็นกลางนี้ได้ และจะต้องมีผลตามมาอย่างแน่นอน แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดเพิ่มเติม
ขณะที่การสำรวจความเห็นประชาชนเริ่มเปลี่ยนแปลงไปหลังจากรุกรานยูเครนของรัสเซีย โดย 56% ในการสำรวจ สนับสนุนการยกระดับความสัมพันธ์กับนาโต้ เพิ่มจากระดับ 37% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนการสนับสนุนให้เข้าร่วมนาโต้นั้นเริ่มปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นความเห็นส่วนใหญ่ของชาวสวิตเซอร์แลนด์ โดยการสำรวจเมื่อเดือนเมษายน ของ Sotomo พบว่า 33% ของชาวสวิส หนุนการเข้าร่วมนาโต้ เพิ่มจากระดับ 21% ในการศึกษาของมหาวิทยาลัย ETH university
ทั้งนี้และทั้งนั้น ประเด็นดังกล่าวยังอยู่บนโต๊ะการเจรจาในระดับการเมืองซึ่งมีแนวคิดทั้งการสร้างความยืดหยุ่นให้กับสถานะความเป็นกลางของประเทศ การยืนหยัดอย่างแข็งขันต่อบทบาทความเป็นกลางที่ประสบความสำเร็จมายาวนานของสวิตเซอร์แลนด์ต่อไป แต่ในทัศนะของไมเคิล เฮอร์แมนน์ จากหน่วยงานวิจัย Sotomo มองว่า เห็นได้ชัดว่าการบุกยูเครนของรัสเซีย ได้เปลี่ยนใจผู้คนจำนวนมาก และสถานการณ์นี้ถูกมองว่าเป็นการโจมตีคุณค่าของประชาธิปไตยของชาติตะวันตกอย่างเห็นได้ชัด
- ที่มา: รอยเตอร์